นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ วันนี้ ได้เห็นชอบแนวทางการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 "ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ" ภายใต้คำขวัญ "ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ" เน้นป้องกันและลดผลกระทบจากการดื่ม ภายใต้ 5 มาตรการ คือ รณรงค์ประชาสัมพันธ์ ยกระดับด่านชุมชน ป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยงระดับชุมชน การบังคับใช้กฎหมาย และ การคัดกรอง บำบัดรักษาฟื้นฟูสภาพผู้มีปัญหาจากการดื่มสุรา
ส่วนข้อเสนอเรื่องการขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงถึง 04.00 น. ซึ่งจะทำให้มีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นานถึง 11 ชั่วโมง นับตั้งแต่ 17.00 น. คณะกรรมการฯ เห็นตรงกันว่า ไม่ควรขยายเวลาเปิดสถานบันเทิง เนื่องจากโอกาสที่จะมีคนเมาแล้วขับทำให้เกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นถึง 27% ทำให้มีคนเจ็บและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากการดื่มแล้วขับได้ถึง 10-20 รายต่อวัน แม้จะมีการกวดขัน เช่น ด่านตรวจเข้มตลอดคืนถึงเช้า คาดว่าจะสกัดคนเมาแล้วขับได้เพิ่ม 30-50% และลดผลกระทบได้เพียง 10 รายต่อวัน
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้เห็นชอบให้คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัด กำหนดมาตรการ ข้อสั่งการ และแนวทางการดำเนินงานเชิงรุก ในการจัดกิจกรรม งานประเพณี งานกาชาดของจังหวัด ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ รวมถึงขอความร่วมมือหน่วยงานราชการไม่รับทุนสนับสนุนจากธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และไม่แสดงเครื่องหมายการค้า/ตราเสมือน ในพื้นที่จัดกิจกรรมที่จัดโดยหน่วยงานราชการ พร้อมผลักดันการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามวาระ SAFER และให้วันที่ 3 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันงดดื่มสุราโลก
สำหรับการเตรียมงานช่วงปีใหม่ 2566 แบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงเตรียมความพร้อมก่อนเทศกาลปีใหม่ รณรงค์จัดกิจกรรมปีใหม่ปลอดเหล้า หรือสวดมนต์ข้ามปี สร้างกระแสให้ร้านค้าและประชาชนปฏิบัติตามกฎหมาย เช่น ห้ามขายเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ห้ามส่งเสริมการขาย ลดแลกแจกแถม ขายในเวลาที่กำหนด 11.00-14.00 น. และ 17.00-24.00 น.
ช่วงเทศกาลปีใหม่ ใช้มาตรการชุมชนเชิงบวก เพิ่มศักยภาพด่านชุมชนคัดกรองผู้ขับขี่ที่มีอาการมึนเมา กรณีเกิดเหตุมีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตให้ตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ทุกราย โดยเป่าวัดทางลมหายใจ หากไม่สามารถเป่าได้ให้ส่งโรงพยาบาลเจาะเลือดตรวจ และบังคับใช้กฎหมายเข้มงวดในผู้กระทำผิด
ส่วนช่วงหลังปีใหม่ เน้นคัดกรองส่งต่อผู้กระทำผิดฐานเมาแล้วขับและถูกศาลสั่งคุมประพฤติให้เข้ารับการบำบัดรักษา โดยจะแจ้งให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการเตรียมพร้อมต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2565-2570) โดยให้คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัด จัดส่งแผนปฏิบัติการระดับจังหวัดและรายงานผลการดำเนินงานให้คณะกรรมการฯ ทราบทุก 6 เดือน