xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวปลอม! 25 ธ.ค.เป็นต้นไป จะไม่มีไฟฟ้า-น้ำ- อาหาร-สัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ เพราะอาจเกิดพายุสุริยะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากกรณีการส่งต่อข้อมูลที่เกี่ยวกับวันที่ 25 ธ.ค. 65 เป็นต้นไป จะไม่มีไฟฟ้า น้ำ อาหาร สัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ เพราะอาจเกิดพายุสุริยะ ทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่าข้อความดังกล่าวในประเด็นของพายุสุริยะระดับรุนแรงในช่วงวันที่ 25 ธันวาคมนั้นอาจเป็นไปได้ว่ามีที่มาจากข่าวพายุสุริยะในช่วงคริสมาสต์ที่เผยแพร่เมื่อปี 2564 (https://www.space.com/solar-flare-northern-lights-boost-christmas-2021-aurora-displays)

พายุสุริยะนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ แต่มักจะเกิดขึ้นหลังจากได้รับรายงานการตรวจพบ “เปลวสุริยะ” ของดวงอาทิตย์ ซึ่งจากนั้นอีกระยะเวลาหนึ่งจึงจะเกิดพายุสุริยะตามมา ทั้งนี้ ไม่สามารถทำนายการเกิดล่วงหน้าได้เป็นเดือน ๆ ซึ่งล่าสุดพบว่ามีรายงานการตรวจพบเปลวสุริยะ จากองค์กรบรรยากาศและสมุทรศาสตร์แห่งสหรัฐฯ National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA) เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ( https://earthsky.org/sun/sun-activity-solar-flare-cme-aurora-updates/) และไม่ได้แจ้งเตือนว่าจะเกิดผลกระทบรุนแรงแต่อย่างใด

“เปลวสุริยะ” เกิดจากการระเบิดครั้งใหญ่บนดวงอาทิตย์ มักสอดคล้องกับจุดดับและการปลดปล่อยมวลโคโรนา (Coronal Mass Ejection - CME) โดยอนุภาคมีประจุบนดวงอาทิตย์จะถูกปลดปล่อยออกมา และหากอนุภาคเหล่านี้ปะทะเข้ากับโลก จะส่งผลต่อการรบกวนสนามแม่เหล็กของโลก เกิดเป็นพายุสุริยะ (geomagnetic storm) ได้ กรณีพายุสุริยะรบกวนสนามแม่เหล็กของโลก อาจส่งผลต่อระบบจ่ายกระแสไฟฟ้าบนโลก ซึ่งหากรุนแรงมากอาจทำให้เกิดไฟฟ้าดับ หรือเกิดความแปรปรวนในการจ่ายไฟฟ้าได้ แต่เนื่องจากการชนเข้ากับชั้นบรรยากาศนี้เกิดในระดับความสูงที่สูงจากพื้นโลกเป็นอย่างมาก จึงไม่มีผลต่อระบบสื่อสาร อิเล็กทรอนิกส์ และอินเตอร์เน็ต รวมถึงไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ที่อาศัยบนพื้นโลก แต่จะสามารถสังเกตเห็นได้เป็น “ปรากฏการณ์แสงเหนือ” หรือ “ออโรรา” นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ทั้งการรบกวนระบบจ่ายกระแสไฟฟ้าและปรากฏการณ์แสงเหนือนั้น มักเกิดขึ้นเฉพาะพื้นที่ประเทศในบริเวณละติจูดสูง ๆ เมื่อมีพายุสุริยะที่ระดับความรุนแรงมากขึ้น ก็อาจจะส่งผลถึงผู้สังเกตที่อยู่บริเวณละติจูดต่ำลงไปได้ ดังเช่นเหตุการณ์ Carrington Event ที่ถูกบันทึกเอาไว้ในปี ค.ศ. 1859 ผู้สังเกตอยู่บริเวณใกล้แถบศูนย์สูตรก็ยังสามารถสังเกตเห็นปรากฏการณ์แสงเหนือได้

สำหรับผลกระทบอื่นๆ เช่น ดาวเทียมที่โคจรอยู่รอบโลก ปัจจุบันดาวเทียมมีการออกแบบบระบบสำรองไว้รองรับในกรณีดังกล่าว หากเกิดพายุสุริยะที่รุนแรงมาก ๆ ผู้บังคับดาวเทียมทั่วโลกอาจปิดระบบบางส่วนชั่วคราว จนกว่าพายุสุริยะจะผ่านพ้นไป แต่ไม่ยาวนานขนาด 15 วันตามที่เป็นข่าว และนอกจากนี้ ในปัจจุบันเรายังไม่ได้มีหลักฐานที่บ่งชี้ถึงพายุสุริยะระดับรุนแรงที่จะเกิดขึ้นในปลายปีนี้แต่อย่างใด

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ https://www.narit.or.th/โทร. 053 121 2689