นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความยินดีที่นางคริสตาลินา จอร์เจียวา (Kristalina Georgieva) กรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ (IMF) ได้กล่าวชื่นชมไทยในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค 2022 โดยมีศักยภาพดึงดูดความร่วมมือทุกเขตเศรษฐกิจ และชื่นชมไทยที่ได้กำหนดหัวข้อของการประชุมที่มีความชัดเจน ประเด็นเรื่องการ "เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์. เชื่อมโยงกัน. สู่สมดุล : Open. Connect. Balance."
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กรรมการจัดการกองทุน IMF ยังกล่าวถึงข้อเสนอแนะเพื่อรับมือกับผลกระทบจากสถานการณ์ความท้าทายต่างๆ ที่เกิดขึ้นว่า โลกเปลี่ยนแปลงไปมากจากการต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ ซึ่งการระบาดของโควิด-19 สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจแบบถาวรกว่า 5.3% ของ GDP โลก เขตเศรษฐกิจเอเปคส่วนใหญ่กำลังชะลอตัว และอย่างน้อย 1 ใน 3 ของโลกกำลังจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ในขณะที่ประเทศและภูมิภาคหลักอย่างสหรัฐฯ จีน และยุโรป ซึ่งเป็นเครื่องยนต์หลักของการเติบโตโลก ก็กำลังชะลอตัวลงพร้อมๆ กัน ซึ่งนั่นกำลังส่งผลกระทบต่อการส่งออกของตลาดเกิดใหม่ อย่างไรก็ตาม ภูมิภาคอาเซียนยังถือว่ามีข้อได้เปรียบ และเป็นจุดโดดเด่น ที่จะได้รับประโยชน์จากเงื่อนไขของการปรับปรุงการค้า
ทั้งนี้ กรรมการจัดการกองทุน IMF เห็นว่า เอเปค ได้รับประโยชน์อย่างมากจากการรวมกลุ่มของ 21 เขตเศรษฐกิจคิดเป็น 60% ของ GDP โลก โดยภูมิภาคเอเชียมีห่วงโซ่คุณค่าระดับภูมิภาคที่แข็งแกร่งที่สุด ในขณะที่คู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของละตินอเมริกาอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก อีกทั้ง 2 ใน 3 ของการนำเข้าของสหรัฐฯ มาจากเอเปค และในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา การรวมตัวนี้ทำให้ผู้คนกว่า 1.5 พันล้านคน หลุดพ้นจากความยากจน และอีกหลายร้อยล้านคนเข้าสู่ชนชั้นกลาง
IMF ได้ให้ข้อเสนอแนะว่า ทุกประเทศต้องร่วมมือกันหาแนวทางที่เหมาะสมสำหรับทุกฝ่าย นโยบายการเงินและการคลังต้องเดินไปด้วยกัน สร้างความยืดหยุ่นเพื่อรอรับแรงกระแทกในอนาคต ทั้งกับผู้คนที่สามารถฟื้นตัวได้ เศรษฐกิจที่มีความยืดหยุ่น และโลกที่สามารถส่งต่อไปยังคนรุ่นต่อไปได้ โดยหากทุกคนร่วมมือกันเราจะแข็งแกร่งขึ้น
นอกจากนี้ กรรมการจัดการกองทุน IMF ได้กล่าวชื่นชมไทยในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมโดยมีศักยภาพดึงดูดความร่วมมือทุกเขตเศรษฐกิจ และกำหนดหัวข้อของการประชุมที่มีความชัดเจนของไทย "เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์. เชื่อมโยงกัน. สู่สมดุล : Open. Connect. Balance." โดยมองว่า "เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์." ผ่อนปรนข้อจำกัดทางการค้า และขจัดอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี "เชื่อมโยงกัน." ส่งเสริมและสนับสนุนข้อตกลงระดับภูมิภาคที่แข็งแกร่ง และทำงานเพื่อทำให้ WTO แข็งแกร่งขึ้น ซึ่งดิจิทัลถือเป็นโอกาสที่ดีในการกำหนดโลกที่เชื่อมต่อกันได้ดีขึ้นและช่วยพัฒนาชีวิตผู้คน และ "สู่สมดุล." การเติบโตต้องมีความครอบคลุมมากขึ้น เพื่อปกป้องกลุ่มที่เปราะบาง และปกป้องความเท่าเทียมกันทางเพศ การเติบโตจะต้องมีความยั่งยืนมากขึ้น และสามารถรับมือกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้
นายอนุชา กล่าวเพิ่มเติมว่า นายกรัฐมนตรีพร้อมเดินหน้าเศรษฐกิจที่ยืดหยุ่น ครอบคลุม และยั่งยืนให้กับประเทศ พร้อมยืนยันว่า ไทยให้ความสำคัญกับการค้าระหว่างประเทศ พร้อมที่จะสนับสนุนข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ เชื่อมั่นว่าไทยเดินหน้านโยบายในทิศทางที่ถูกต้อง และพร้อมหารือและรับฟังสิ่งที่เป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อนำมาปรับใช้อย่างเหมาะสม เดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนประเทศเพื่อคนรุ่นต่อไป