น.ส.นพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอีเอส) เปิดเผยผลสรุปการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมประจำสัปดาห์โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 11-17 พฤศจิกายน 2565 พบข้อความที่เข้ามาจำนวน 5,216,773 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 236 ข้อความ แบ่งเป็น ข้อความที่มาจาก Social listening จำนวน 223 ข้อความ และข้อความที่มาจาก Line Official จำนวน 13 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ 102 เรื่อง ในจำนวนนี้เป็นเรื่องโควิด -19 จำนวน 2 เรื่อง
ทั้งนี้ ดีอีเอสได้แบ่งข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย
กลุ่มที่ 1 ข่าวปลอมเรื่องนโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศจำนวน 61 เรื่อง
กลุ่มที่ 2 ข่าวปลอมเรื่องผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมาย จำนวน 30 เรื่อง
กลุ่มที่ 3 ข่าวปลอมเศรษฐกิจ จำนวน 6 เรื่อง
กลุ่มที่ 4 ข่าวปลอมเรื่องภัยพิบัติ จำนวน 5 เรื่อง
สำหรับข่าวปลอมทั้ง 4 กลุ่มมีความเกี่ยวเนื่องกับเรื่องโควิค-19 จำนวน 2 เรื่อง
โฆษกดีอีเอส กล่าวว่า เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจลำดับต้นๆ ในสัปดาห์ล่าสุดนี้ พบว่าส่วนใหญ่เป็นข่าวปลอมด้านเศรษฐกิจ
สำหรับข่าวปลอมที่มีคนสนใจสูงสุด 10 อันดับ ระหว่างวันที่ 11-17 พฤศจิกายน 2565 มีดังนี้
อันดับที่ 1 เรื่อง เป๋าตังส่ง SMS ให้ประชาชนอัปเดต เวอร์ชันใหม่
อันดับที่ 2 เรื่อง แบงก์พันปลอมหมายเลขเดียวกันจากต่างประเทศระบาดเข้าไทย
อันดับที่ 3 เรื่อง กินอาหารค้างคืนอุ่นซ้ำ ทำให้เป็นโรคมะเร็ง
อันดับที่ 4 เรื่อง โควิด-19 สายพันธุ์แลมบ์ดาระบาดหนักในเขตมีนบุรี หมอประสิทธิ์ ขอให้ประชาชนล็อกดาวน์ตัวเอง
อันดับที่ 5 เรื่อง กรุงไทยส่ง SMS ให้ประชาชนรับสิทธิ์ยื่นสินเชื่อผ่านลิงก์
อันดับที่ 6 เรื่อง ผลิตภัณฑ์ Bluzone Fish Oil Plus เสริมโอเมก้า 9 ช่วยบรรเทาการอักเสบของร่างกาย และหลอดเลือด
อันดับที่ 7 เรื่อง มุสลิมไทยได้เป็นเจ้าของบัญชีธนาคารอิสลามทุกคน สามารถกู้เงินโดยไม่ต้องใช้หนี้คืนได้
อันดับที่ 8 เรื่อง ปตท.เปิดการลงทุนเทรดหุ้นน้ำมันด้วยเงิน 1,000 บาท
อันดับที่ 9 เรื่อง สาเหตุของการปวดฟัน ฟันผุ เกิดจากแมงกินฟัน
อันดับที่ 10 เรื่อง เดลตาสายพันธุ์ใหม่มีความแตกต่างของการเสียชีวิตโดยตรวจไม่พบเชื้อ