นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแนะรัฐบาลขับเคลื่อนข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสมาชิกเอเปคให้เกิดเป็นรูปธรรม ซึ่งจะส่งผลดีต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะในปีหน้าจะเป็นปีแห่งความพลิกผัน ทั้งจากความท้าทายทางเศรษฐกิจ การเมืองในเวทีโลก เวทีภูมิภาค และในประเทศไทย โดย เศรษฐกิจ BCG เป็นข้อตกลงความร่วมมือที่จะได้ประโยชน์อย่างมาก รัฐบาลควรใช้โอกาสนี้ขับเคลื่อนแนวคิด BCG อย่างเป็นระบบ กำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน และที่สำคัญการพัฒนา BCG จะต้องเริ่มต้นที่ระดับเศรษฐกิจฐานราก ส่วนด้านการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล เชื่อว่าเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นกุญแจสำคัญของการปฏิรูปเพื่อยกระดับขีดความสามารถให้กับเศรษฐกิจไทย ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ภาครัฐจะเร่งประสานเครือข่ายภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาด้วยแผนงานและกิจกรรมที่ชัดเจน เพื่อปฏิรูปเศรษฐกิจไทยสู่เศรษฐกิจกิจดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรม
โดยนายอุตตม ระบุว่า "การประชุมเอเปคที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพได้สิ้นสุดลงแล้ว โดยมีข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสมาชิกเอเปคที่น่าสนใจ ซึ่งหากประเทศไทยสามารถนำข้อตกลงเหล่านั้นมาขับเคลื่อนให้เกิดเป็นรูปธรรม ก็จะส่งผลดีต่อการพัฒนาประเทศอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในปีหน้าจะเป็นปีแห่งความพลิกผัน ทั้งจากความท้าทายทางเศรษฐกิจ การเมืองในเวทีโลก เวทีภูมิภาค และในประเทศไทยเอง เราจึงควรใช้ประโยชน์จากเวทีเอเปครั้งนี้ ให้เกิดประสิทธิภาพที่สุดในการบริหารจัดการประเทศนับตั้งแต่ช่วงเวลาจากนี้ไป
ที่ผมกล่าวว่าปีหน้าจะเป็นปีแห่งความพลิกผันด้วยปัจจัยข้างต้นนั้น เชื่อว่าประเทศต่างๆ รวมถึงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะเผชิญกับ 2 ความท้าทายสำคัญ ได้แก่ การเร่งฟื้นเศรษฐกิจ และการเร่งสร้างพลังใหม่ๆ ทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจใหม่ หรือ New Economy โดยให้น้ำหนักกับการทำให้ประเทศของตนเป็นที่น่าสนใจและดึงดูดการลงทุน การร่วมมือในด้านเทคโนโลยีและอื่นๆ จากต่างประเทศ ในส่วนของประเทศไทยเราควรใช้ข้อตกลงหลักจากเวทีเอเปคให้เต็มศักยภาพ เพื่อให้ประเทศประสบความสำเร็จกับการจัดการกับความท้าทายอย่างแท้จริง และทำให้ประเทศไทยสามารถอยู่ในแนวหน้าของประเทศที่น่าสนใจในภูมิภาคเอเชียในตะวันออกเฉียงใต้
BCG เป็นข้อตกลงความร่วมมือที่เราน่าจะได้ประโยชน์อย่างมาก เพราะประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) สูง ดังนั้นรัฐบาลควรใช้โอกาสนี้ขับเคลื่อนแนวคิด BCG อย่างเป็นระบบ โดยกำหนดเป้าหมายชัดเจนว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจใดบ้างที่จะพัฒนาตามแนวคิดนี้ ควบคู่ไปกับการกำหนดพื้นที่ที่เหมาะสมกับการริเริ่มกิจกรรมดังกล่าว โดยคำนึงถึงการยึดโยงกิจกรรม การขนส่งคมนาคม และการพัฒนาคนในพื้นที่ ระหว่างพื้นที่ เช่น กลุ่มจังหวัดในภาคต่างๆ ของประเทศ พร้อมทั้งกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จที่ชัดเจน โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับกลุ่มต่างๆ ตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ตั้งแต่ระดับการผลิตวัตถุดิบไปจนถึงการผลิต การตลาด ผู้บริโภค และที่สำคัญยิ่งคือการที่ BCG จะประสบความสำเร็จอย่างแท้จริงและยั่งยืนนั้น การพัฒนา BCG จะต้องเริ่มต้นที่ระดับเศรษฐกิจฐานราก โดยชุมชนในพื้นที่ต้องเป็นแกนในการพัฒนา ส่วนรัฐบาลมีหน้าที่สนับสนุนชุมชนและเป็นผู้ประสาน ผนึกกำลังกันทั้งหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษาในพื้นที่ ร่วมกันเป็นเครือข่ายพัฒนาและผลักดันการพัฒนากิจกรรมเศรษฐกิจ BCG ให้เกิดขึ้นโดยเร็วและเป็นรูปธรรม
ผมขอยกตัวอย่างการยกระดับมูลค่าตามแนวคิด BCG ที่สามารถเพิ่มมูลค่าได้ตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิตด้วยการใช้เทคโนโลยี สำหรับในภาคเกษตรเช่นข้าว แทนที่เราจะขายข้าวเฉพาะตลาดบริโภค เราสามารถใช้เทคโนโลยีสกัดสารสำคัญจากข้าวเพื่อนำไปเป็นส่วนประกอบเครื่องสำอาง ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่าการขายข้าวเป็นตันๆ และยังมีอีกหลายมิติ หลายสินค้า ผลิตภัณฑ์ชุมชน ที่จะได้ประโยชน์จากแนวคิด BCG
อีกข้อตกลงความร่วมมือจากเวทีเอเปค คือด้านการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งผมเชื่อว่าเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นกุญแจสำคัญของการปฏิรูปเพื่อยกระดับขีดความสามารถให้กับเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย และผู้ประกอบการ Startup รัฐบาลสามารถเป็นแกนนำในเรื่องนี้ เพื่อสร้างแต้มต่อให้ผู้ประกอบการด้วยการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล พร้อมไปกับการพัฒนาทักษะดิจิทัลและองค์ความรู้พร้อมๆ กันทั้งประเทศ เริ่มตั้งแต่เศรษฐกิจชุมชนระดับฐานราก
ก่อนหน้านี้ ระหว่างที่ผมรับผิดชอบที่กระทรวงอุตสาหกรรม ผมได้ริเริ่มให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ ปรับเป็นศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลและอุตสาหกรรม 4.0 โดยมีเป้าหมายช่วยผู้ประกอบการเรียนรู้เทคโนโลยีเทคโนโลยีดิจิทัล และสามารถใช้ดิจิทัลได้อย่างกว้างขวาง ตลอดกระบวนการการผลิต การให้บริการ ตลอดจนสะสมทักษะองค์ความรู้ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถเติบโตได้อย่างเข้มแข็ง เป็นการสร้างโอกาส สร้างงานในชุมชนทั่วประเทศได้อีกทางหนึ่งด้วย
จากการที่ทั่วโลกกำลังตื่นตัวกับเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งสะท้อนจากการประชุมเอเปคในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสที่ดีที่ภาครัฐจะเร่งประสานกับเครือข่ายภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาด้วยแผนงานและกิจกรรมที่ชัดเจน เพื่อปฏิรูปเศรษฐกิจไทยสู่เศรษฐกิจกิจดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรม
เวทีเอเปคที่กรุงเทพครั้งนี้ เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ต่างจากครั้งก่อนๆ ด้วยสถานการณ์โลกที่เป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย การที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานเอเปคครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสที่เราจะร่วมกันใช้ผลจากการประชุมเอเปค มาเป็นพลังในการฟื้นเศรษฐกิจ และสร้างรากฐานที่มั่นคงสำหรับการพัฒนาประเทศได้อย่างเต็มศักยภาพเพื่อตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาที่สั่งสมมา และการยกระดับความพร้อมที่เราจะเผชิญความท้าทายในโลกใหม่ที่กำลังมาถึง นอกจากนี้ยังจะส่งผลให้ประเทศไทยเป็นที่สนใจในสายตานักลงทุนทั่วโลกอีกด้วย"