ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดเผยผลการสำรวจเรื่อง "ประเมินเอเปค" กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,156 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565
เมื่อสอบถามถึงประโยชน์ที่ประเทศไทยและประชาชนได้รับจากการจัดประชุมเอเปคในประเทศไทยต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังวิกฤตโควิด พบว่า ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 85.6 ระบุเกิดประโยชน์มาก ถึง มากที่สุด ในขณะที่ร้อยละ 10.3 ระบุปานกลาง และร้อยละ 4.1 ระบุน้อย ถึง ไม่เกิดประโยชน์เลย
ที่น่าสนใจคือ ประชาชนส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 82.5 พอใจมาก ถึง มากที่สุด ต่อนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีผลงานจัดประชุมเอเปคในประเทศไทย ดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังวิกฤตโควิด ในขณะที่ ร้อยละ 11.4 พอใจปานกลาง และร้อยละ 6.1 พอใจน้อย ถึง ไม่พอใจเลย
นอกจากนี้ ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 81.9 พอใจมาก ถึง มากที่สุด ต่อนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ทำหน้าที่หารือกับประเทศต่างๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น และอื่นๆ ในการค้าระหว่างประเทศกับสินค้าไทย เช่น ข้าว กล้วยไม้ และอื่นๆ
เมื่อสอบถามถึงความเชื่อมั่นของประชาชนในอีก 6 เดือนข้างหน้าต่อเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นกว่านี้ ที่เป็นผลพวงจากการประชุมเอเปคครั้งนี้ พบว่า ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 65.8 เชื่อมั่นมาก ถึง มากที่สุด ร้อยละ 22.7 เชื่อมั่นปานกลาง และร้อยละ 11.5 เชื่อมั่นน้อยถึงไม่เชื่อมั่นเลย
ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลโพลชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า ประชาชนส่วนใหญ่พอใจต่อการจัดประชุมเอเปคในประเทศไทย และพอใจต่อนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ในการทำหน้าที่หารือกับต่างประเทศในด้านการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้าทางการเกษตร ด้วยการเปิดกว้างในทุกโอกาส สร้างความสมดุลในการเปลี่ยนแปลงหลังวิกฤตโควิด โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ที่กำลังเป็นกระแสตื่นตัวไปทั่วโลก ด้วยโมเดลเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ที่มุ่งเน้นไปยังการสร้างความสมดุลและเปิดทุกโอกาสในการปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด
ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล กล่าวเพิ่มเติมว่า บทบาทสำคัญของการค้าการลงทุนและการฟื้นฟูเศรษฐกิจเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนในเวลานี้ การลดความเหลื่อมล้ำ การขจัดความยากจน ยกระดับความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น การปฏิรูปการเติบโตทางเศรษฐกิจใหม่หลังวิกฤตโควิดที่มุ่งเน้นการจัดสภาพแวดล้อม เงื่อนไขทางการค้าและการลงทุนที่เสรี เปิดกว้าง เป็นธรรม ไม่แทรกแซง ไม่เลือกปฏิบัติ มีความโปร่งใส ใช้ข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ ถูกต้อง ครอบคลุม และพยากรณ์อนาคตของการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจได้อย่างแม่นยำ เพื่อรักษาความสมดุลของการลงทุนและการพัฒนาเศรษฐกิจจากการประชุมเอเปคครั้งนี้ ที่ประชาชนคนไทยทั้งประเทศร่วมกันเป็นเจ้าภาพกับรัฐบาลจัดงานประชุมเอเปคครั้งนี้ได้สำเร็จ เป็นที่พึงพอใจและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนทั้งประเทศตามผลโพลที่ค้นพบครั้งนี้