นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากข้อมูลการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในไทยกว่า 143 ล้านโดส พบว่าช่วยเซฟชีวิตคนไทยได้กว่า 5 แสนคน ดังนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติได้พิจารณาแผนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในปี 2566 ซึ่งจะมีการอิงตามรูปแบบการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ปีละ 1-2 เข็ม โดยฉีดเข็มกระตุ้นในกลุ่มเสี่ยง 608 บุคลากรการแพทย์ด่านหน้า อาสาสมัครสาธาณรสุขหมู่บ้าน (อสม.) 18 ล้านคน ฉีด 2 เข็ม ใช้วัคซีนประมาณ 36 ล้านโดส โดยใช้งบประมาณจากกรมควบคุมโรคเป็นหลัก
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบในหลักการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สามารถจัดซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพื่อช่วยกระจายวัคซีนให้ประชาชนได้ครอบคลุมมากที่สุด โดยมอบหมายให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติเป็นหน่วยงานหลักประสานงานไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนเรื่องงบประมาณ กลุ่มเป้าหมาย และไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำเป็นต้น
ส่วนสูตรการฉีดเข็มกระตุ้นนั้น ต้องมีการพิจารณาตามสถานการณ์ เนื่องจากปัจจุบันการพัฒนาวัคซีนมีการเปลี่ยนแปลงตลอด อย่างไรก็ตาม ในส่วนของวัคซีนรุ่นใหม่ๆ ที่มีการติดตาม ณ ตอนนี้ เรื่องของประสิทธิภาพ ประสิทธิผล พบว่ายังไม่แตกต่างจากวัคซีนตัวที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่ที่เปลี่ยนแปลงคือราคาที่สูงกว่าวัคซีนเดิมอย่างมาก ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ติดตามการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในประเทศ พบว่าแม้จะเดินไปได้ช้า แต่ขอให้พัฒนาต่อเนื่อง เพราะอนาคตยังต้องฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ต้องพึ่งพาการผลิตในประเทศ
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับสถานการณ์โรคโควิด-19 ขณะนี้ จากข้อมูลพบว่ามีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นจากเมื่อ 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ราวๆ 4-5% ซึ่งเป็นไปตามโมเดลที่มีการคาดการณ์ไว้ เนื่องจากประเทศไทยเริ่มเข้าสู่หน้าหนาว โรงเรียนเปิดการเรียนการสอน และประเทศจัดกิจกรรมต่างๆ จำนวนมาก ดังนั้น ช่วงนี้การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเป็นเรื่องที่สำคัญ ขอให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อป้องกันป่วยหนักและเสียชีวิต