นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานงานแถลงข่าวงานเทศกาลลอยกระทงกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2565 โดยกล่าวว่า กรุงเทพมหานครมีนโยบาย 12 เทศกาลตลอดทั้งปี โดยตลอด 3 เดือนหลังจากนี้ (พ.ย. 65-ม.ค. 66) จะเป็นงานเทศกาล COLORFUL BANGKOK ซึ่งงานลอยกระทงเป็นอีกหนึ่งงานเทศกาลที่ส่งเสริมประเพณีและวัฒนธรรมไทย ที่มีประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมากทุกปี
นายศานนท์ กล่าวว่า ปีที่แล้วเป็นปีที่มีความท้าทายของโรคระบาดโควิด-19 แต่ก็สามารถฝ่าฟันจัดงานลอยกระทงได้ จากการเข้าพบรัฐบาลและชี้แจงมาตรการมากมาย ซึ่งงานปีที่แล้วก็สามารถบรรลุได้ ประชาชนให้ความร่วมมือ และมีเสียงตอบรับดี ดังนั้น ในปีนี้ก็ต้องมีงานลอยกระทงเกิดขึ้น และต้องยิ่งใหญ่ไม่แพ้ปีที่แล้วเช่นกัน
สำหรับการจัดเทศกาลลอยกระทงในปีนี้ มีวัตถุประสงค์ทั้งหมด 3 ประการ คือ
1. เพื่อสืบสานประเพณีที่ดีงามในทุกพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร โดยจะมีการจัดกิจกรรมลอยกระทงทั้ง 50 เขตกรุงเทพฯ โดยสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว จะจัดกิจกรรมบริเวณสะพานพระราม 8 ฝั่งธนบุรี เขตบางพลัด ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 ตั้งแต่เวลาประมาณ 17.00-22.00 น. โดยจะมีกิจกรรมศิลปิน นักร้องขึ้นแสดงบนเวที และมีตลาดโบราณจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน 50 เขต
นอกจากนี้ จะมีการจัดกิจกรรมลอยกระทงบริเวณคลองโอ่งอ่าง ในวันที่ 6-8 พฤศจิกายน 2565 โดยจะมีการจัดกิจกรรมแสดงดนตรีไทย ดนตรีประยุกต์ ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย มีนักร้อง นักดนตรี และมีการฉายหนังกลางแปลง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีจัดกิจกรรมของเอกชน และสำนักงานเขตที่เปิดพื้นที่ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้ลอยกระทงด้วย เช่น สวนสาธารณะ 33 แห่ง หรืองาน Bangkok River Festival 2022 สายน้ำแห่งวัฒนธรรมไทย เป็นต้น
2. ร่วมกันสอดส่องดูแล และรณรงค์เรื่องความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน โดยในเรื่องความปลอดภัย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับเรื่องนี้มากเป็นพิเศษ ซึ่งงานลอยกระทงเป็นอีกหนึ่งงานที่มีประชาชนออกมายังพื้นที่สาธารณะจำนวนมาก ประกอบกับเพิ่งเกิดเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่อิแทวอน ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าทุกการจัดงาน มีทั้งด้านดีและความเสี่ยงเกิดขึ้น
ดังนั้น กรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกับภาคี ทั้งตำรวจนครบาล ตำรวจท่องเที่ยว ตำรวจจราจร โดยเน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นสำคัญ ซึ่งบริเวณสะพานพระราม 8 จะมีการจัดโซนนิ่ง จัดคิว มีพื้นที่พัก ไม่ให้เกิดการติดขัด ส่วนบริเวณคลองโอ่งอ่าง เน้นย้ำให้คนสามารถเข้าออกได้โดยไม่ติดขัด ขณะเดียวกัน ได้มีการตรวจสอบท่าเรือ โป๊ะเรือ ให้มีความแข็งแรง ปลอดภัย ส่วนเรื่องการจำหน่ายพลุ ดอกไม้ไฟ และโคมลอย จะมีการกำชับเน้นย้ำชัดเจนเรื่องความอันตราย
โดยเรื่องการจุดพลุไม่อนุญาต เรื่องพลุไฟ และโคมลอย ต้องกำชับเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก ส่วนไฟเย็นเล็กๆ สามารถจุดได้ เน้นย้ำเรื่องพลุ ถ้าสถานที่ใหญ่จะจุดต้องได้รับการอนุญาตก่อน ต้องขออนุญาตล่วงหน้า และต้องไม่รบกวน หรือส่งผลกระทบกับบ้านเรือนบริเวณนั้นด้วย
นอกจากนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตำรวจทางน้ำ กรมเจ้าท่า และกองทัพเรือ ได้จัดเตรียมหน่วยแพทย์กู้ชีวิตทางน้ำ หน่วยลาดตระเวนทางน้ำ เจ้าหน้าที่เทศกิจ เจ้าหน้าที่ป้องกันบรรเทาสาธารณภัย และอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) ภาคประชาชน ร่วมดูแลทุกพื้นที่ตลอดการจัดงาน อย่างไรก็ดี ถ้าประชาชนพบเหตุสาธารณภัย สามารถแจ้งสายด่วนโทร 199 และ 1555 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
3. รณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม และรักษาความสะอาด เทศกาลการลอยกระทงเป็นการขอบคุณพระแม่คงคา ดังนั้น คงไม่อยากให้แม่น้ำเน่าเสียหรือมีขยะเกิดขึ้น จึงรณรงค์ให้มีการใช้กระทงที่สามารถย่อยสลายได้ และ "1 ครอบครัว 1 กระทง" ขณะเดียวกัน เน้นย้ำหน่วยงานกรุงเทพมหานคร และภาคี ว่าจะจัดเก็บและคัดแยกกระทงให้เร็วที่สุด ภายในวันรุ่งขึ้นก่อนเวลา 05.00 น. แม่น้ำจะกลับมาใสสะอาด และไม่มีขยะเหมือนเดิม
ทั้งนี้ การจัดเตรียมงานและการวางระบบทุกด้าน ถือเป็นภารกิจสำคัญที่กรุงเทพมหานครให้ความสำคัญ เพื่อให้ประชาชนชาวกรุงเทพฯ และนักท่องเที่ยวได้สัมผัสบรรยากาศลอยกระทง ซึ่งเชื่อว่าเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ที่นักท่องเที่ยวอาจไม่เคยเห็น