xs
xsm
sm
md
lg

WHO เผย"อีโบลา"ระบาดในยูกันดาน่าห่วง ย้ำต้องเร่งควบคุม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายแพทย์เตโวโดรส อัดฮาโนม เกอเบรออีเยอซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่า การแพร่กระจายของไวรัสอีโบลาออกนอกจุดศูนย์กลางของการแพร่ระบาดในภาคกลางของยูกันดานั้นเป็นเรื่องที่น่ากังวล และจำเป็นต้องอาศัยความพยายามร่วมกันในการควบคุมการแพร่ระบาด

กระทรวงสาธารณสุขของยูกันดาเปิดเผยว่า ไวรัสอีโบลาได้แพร่ระบาดจากเขตมูเบนเด ซึ่งมีรายงานการพบผู้ติดเชื้อเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 กันยายน ที่ผ่านมา ออกไปยัง 4 เขตใกล้เคียงภายในเวลา 2 สัปดาห์ เนื่องจากการเคลื่อนไหวของผู้ติดเชื้อและผู้แสดงอาการป่วย ทำให้ไวรัสอีโบลาแพร่กระจายไปยังเขตวากิโซ และกรุงกัมปาลา เมืองหลวงของยูกันดา

กระทรวงสาธารณสุขยูกันดารายงานว่า ณ วันที่ 26 ตุลาคม มีผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันแล้ว 109 ราย โดยในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 30 ราย รักษาหายแล้ว 34 ราย และอยู่ระหว่างการรักษา 45 ราย

นายแพทย์เตโวโดรส กล่าวว่า ยูกันดายังคงยกระดับการรับมือกับโรคอีโบลาด้วยการเพิ่มการติดตามผู้สัมผัสติดต่อกับผู้ติดเชื้อ เร่งให้การดูแลรักษาผู้ติดเชื้อ และส่งเสริมความร่วมมือในชุมชน ขณะที่องค์การอนามัยโลกพร้อมที่จะจัดหาผู้เชี่ยวชาญมากขึ้นเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในทุกๆ ด้านของการรับมือกับโรคอีโบลาในยูกันดา ทั้งนี้ ความร่วมมือในชุมชนมีความสำคัญต่อการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคอีโบลาในยูกันดา รวมถึงความร่วมมือในการเข้าถึงการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที การติดตามผู้สัมผัสติดต่อกับผู้ติดเชื้อ การฝังศพอย่างปลอดภัย และการทดลองวัคซีน

อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลกยินดีที่ยูกันดาเริ่มดำเนินการทดลองวัคซีนอีโบลาอันเป็นความพยายามที่จะหยุดยั้งการแพร่ระบาด โดยนางรูธ เอเซง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของยูกันดา ประกาศเมื่อวันพุธ (26 ต.ค.) ว่า ภายในสองสัปดาห์ยูกันดาจะเริ่มฉีดวัคซีนให้กับผู้ที่สัมผัสติดต่อกับผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันจำนวน 150 ราย

พร้อมกันนี้ องค์การอนามัยโลกเรียกร้องให้บรรดานักวิจัยของยูกันดาเข้าร่วมในการทดลองวัคซีน เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการพัฒนาวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ

นายแพทย์เตโวโดรส ระบุเพิ่มเติมว่า ความร่วมมือและความพร้อมของบรรดาประเทศเพื่อนบ้านก็มีความสำคัญในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคอีโบลาด้วย การรับมือกับโรคอีโบลาเป็นการดำเนินการที่ยากลำบาก ซึ่งต้องอาศัยทุกฝ่ายในการทำงานร่วมกันอย่างเปิดเผยและต้องเฝ้าระวัง และด้วยการทำงานที่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและการปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขนั้น จะทำให้เราจะสามารถยุติการแพร่ระบาดนี้ได้