นายแพทย์วิชาญ ปาวัน ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรคฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรสิส (Leptospirosis) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียโดยมีสัตว์เป็นพาหะขับถ่ายปนเปื้อนในน้ำ เมื่อผู้มีบาดแผลไปลุยน้ำลุยโคลนสัมผัสเชื้อก็จะเกิดการติดเชื้อได้ ทำให้พบผู้ป่วยมากขึ้นในช่วงฤดูฝนหรือหลังน้ำท่วมขัง
ผู้ป่วยจะมีอาการหลักๆ คือ ไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ บางรายตาแดง หากมีประวัติลุยน้ำมา แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นว่าเป็นโรคฉี่หนู หากมาพบแพทย์เร็วได้รับการรักษา รับประทานยา 5 วันต่อเนื่องก็จะหายได้ แต่หากมาพบแพทย์ช้า แม้จะมียารักษา แต่ก็จะมีความเสี่ยง บางรายอาจเกิดภาวะไตวายแทรกซ้อน
ขณะนี้ มีการเฝ้าระวังผู้ป่วยโรคฉี่หนูในสถานพยาบาล ร้านขายยา ในกรณีที่ผู้ป่วยมาหาซื้อยาเอง ขอให้ร้านขายยาแนะนำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์ และกรมควบคุมโรคได้ทำหนังสือไปยังกรมประชาสัมพันธ์ เพื่อแจ้งจังหวัดให้แจ้งเตือนข้อมูลโรคฉี่หนู เพื่อให้ประชาชนเกิดความระมัดระวัง โดยมีข้อแนะนำป้องกันการติดเชื้อ ดังนี้
1. หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลน หากจำเป็นควรสวมรองเท้าบู๊ต ถุงมือยาง กางเกงขายาว หรือชุดกันน้ำขณะเดินลุยน้ำท่วมขัง ย่ำดินที่ชื้นแฉะ และการทำความสะอาดบ้านเรือนหลังน้ำลด
2. ให้ทำความสะอาดร่างกายด้วยสบู่และน้ำสะอาดทันทีหลังลุยน้ำย่ำโคลนหรือลงแช่น้ำ
3. หากมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัว ปวดกล้ามเนื้อที่น่องหรือโคนขา หลังลุยน้ำย่ำโคลนหรือลงแช่น้ำ อย่าซื้อยามารับประทานเอง ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุดและแจ้งประวัติเสี่ยงให้แพทย์ทราบ
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 26 ตุลาคม 2565 มีรายงานข้อมูลผู้ป่วยโรคฉี่หนูในทุกภูมิภาค รวม 2,494 ราย เสียชีวิต 28 ราย โดยยังมีแนวโน้มพบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีก