รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า 28 ตุลาคม 2565 เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 252,492 คน ตายเพิ่ม 751 คน รวมแล้วติดไป 634,473,991 คน เสียชีวิตรวม 6,588,867 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส ไต้หวัน เกาหลีใต้ และอิตาลี
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 17 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 89.17 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 76.03
อัพเดตความรู้โควิด-19
Grand round ของ UCSF สหรัฐอเมริกา เมื่อเช้านี้ มีการสรุปความรู้ล่าสุดจากการประชุม Infectious Diseases Society of America (IDSA)
เน้นย้ำความสำคัญของการให้ข้อมูลความรู้ทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ให้แก่สังคม เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการปฏิบัติตัวของประชาชนท่ามกลางสถานการณ์วิกฤติโรคระบาด
นอกจากนี้ยังสรุปให้เห็นพัฒนาการในการดูแลรักษาและป้องกันโรคโควิด-19 ตั้งแต่การดูแลผู้ป่วยที่นอนรักษาในโรงพยาบาลด้วยยาต้านไวรัส Remdesivir และยาสเตียรอยด์ (Dexamethasone) ต่อมาจึงเริ่มมีวัคซีนทยอยออกมาใช้ และจึงเริ่มมียาต้านไวรัสที่ใช้รักษาแบบผู้ป่วยนอก (Paxlovid) รวมถึงยาแอนติบอดี้ที่ใช้สำหรับป้องกันโรคโควิด-19 (Evushield)
ทั้งนี้ยังมีการกล่าวถึงผลการศึกษาวิจัยที่พิสูจน์ให้เห็นชัดเจนว่า ยาฆ่าพยาธิ Ivermectin ไม่ได้ผลในการรักษาโรคโควิด-19
แนวทางการควบคุมป้องกันโรคโควิด-19 ในสถานการณ์สังคมปัจจุบันจะพบว่า เป็นไปได้ยากที่จะเว้นระยะห่าง (social distancing)
ดังนั้นสิ่งที่พอทำได้ด้วยตนเองคือ การใส่หน้ากากเพื่อป้องกันตัว (Masking), การตรวจโรคยามที่สงสัยหรือมีอาการ (Testing), การฉีดวัคซีนเพื่อลดความเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรงและช่วยลดโอกาสแพร่เชื้อหากติดเชื้อมา (Vaccination)
ในขณะที่สถานที่ต่างๆ หากมีการปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้สะอาด โปร่ง ติดตั้งอุปกรณ์ที่ช่วยให้มีการระบายอากาศได้ดีขึ้น (Ventilation) ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อแพร่เชื้อลงได้
และหากเป็นสถานที่ที่มีความเสี่ยงสูง เกี่ยวข้องกับการบริการดูแลคนจำนวนมาก เช่น โรงพยาบาล สถานศึกษา การมีมาตรการทบทวนกระบวนการทำงาน การมีตรวจคัดกรองโรค และการเน้นย้ำเรื่องการใส่หน้ากาก ก็จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้
Long COVID
Perlis RH และคณะ เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารการแพทย์ระดับโลก JAMA เมื่อวานนี้
ศึกษาในช่วงกุมภาพันธ์ 2564 ถึงกรกฎาคม 2565 โดยสำรวจประชากรอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปในประเทศสหรัฐอเมริกา จำนวน 16,091 คน
พบว่า คนที่อายุมากกว่า 40 ปี เสี่ยงต่อ Long COVID เพิ่มขึ้น 1.15 เท่า
เพศหญิงเสี่ยงกว่าชายราว 2 เท่า
การฉีดวัคซีนครบ ก่อนที่จะป่วย จะช่วยลดความเสี่ยงลงได้ราวหนึ่งในสี่
สำหรับไทยเรา การติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์โลก และความรู้ที่ทันสมัย เป็นเรื่องจำเป็น เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจประพฤติปฏิบัติตัวในชีวิตประจำวัน และเพื่อเตรียมตัวรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างทันท่วงที
การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ ไม่ประมาทระหว่างการใช้ชีวิตประจำวัน จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก
อ้างอิง
Perlis RH et al. Prevalence and Correlates of Long COVID Symptoms Among US Adults. JAMA. 27 October 2022.