พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โพสต์เฟซบุ๊ก ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha ระบุว่าเรียน พี่น้องประชาชนที่รักทุกท่าน
ในช่วงที่ผ่านมาผมได้ลงพื้นที่ เพื่อติดตามดูแลการแก้ไขสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัด ได้รับฟังปัญหาจากพี่น้องในพื้นที่ และได้เร่งรัด กำชับให้ช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่และรวดเร็วที่สุด โดยผมได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รายงานผลการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในการประชุม ครม.ในวันนี้ ดังข้อมูลต่อไปนี้
1. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และจังหวัด ได้ให้ความช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 ได้แก่
- ค่าจัดการศพผู้เสียชีวิต รายละไม่เกิน 29,700 บาท
- กรณีบาดเจ็บสาหัสฯ ให้จ่ายเบื้องต้นรายละ 4,000 บาท
- ค่าวัสดุซ่อมแซมที่อยู่อาศัยประจำ เท่าที่จ่ายจริงหลังละ 49,500 บาท
- ด้านการเกษตร ช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยพิบัติที่พืชตาย หรือเสียหายตามจำนวนพื้นที่ทำการเกษตรจริงที่ได้รับความเสียหาย ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่ โดยคิดจากตันทุนการผลิตเฉลี่ย
- โดยช่วยเหลือไปแล้วรวมทั้งสิ้น จำนวน 79,013,666.76 บาท
2. กองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัยสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กำหนด
- ค่าจัดการศพ รายละ 50,000 บาท
- เงินทุนเลี้ยงชีพ แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต ครอบครัวละ 30,000 บาท
- เงินทุนเลี้ยงชีพ แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตที่มีบุตรอายุไม่เกิน 25 ปีบริบูรณ์ อีกครอบครัวละ 50,000 บาท
- ค่าวัสดุในการก่อสร้างซ่อมแซมบ้านเรือนที่เสียหายทั้งหลัง ไม่เกินหลังละ 220,000 - 230,000 บาท เสียหายมาก ไม่เกินหลังละ 70,000 บาท และเสียหายน้อย ไม่เกินหลังละ 15,000 บาท
- ค่าเครื่องอุปโภค และเครื่องใช้อื่น ๆ ที่จำเป็นแก่ครอบครัวแก่ผู้ประสบภัยพิบัติเฉพาะบ้านเรือนที่เสียหายทั้งหลัง และเสียหายมากครัวเรือนละ 5,000 บาท
- โดยได้จัดทำถุงยังชีพ และมอบไปแล้ว 92,361 ถุง ใน 13 จังหวัด คิดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 64,652,700 บาท
3. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์ (พม.)
- ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย จำนวน 151 ราย ๆ ละ 3,000 บาท เป็นเงิน 453,000 บาท ตามระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคมกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2547
4. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการยางแห่งประเทศไทย
- เงินช่วยเหลือแก่เกษตรกรชาวสวนยาง กรณีสวนยางประสบภัย รายละไม่เกิน 3,000 บาท
5. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)
- ได้ให้ความช่วยเหลือประชาชนไปแล้ว จำนวน 180,957,628.94 บาท ซึ่งเป็นการช่วยเหลือประชาชนในเบื้องต้นได้ทันที เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า กรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน อาจใช้เงินสะสมของ อปท. เพื่อช่วยเหลือตามความจำเป็นและเหมาะสม
6. สำนักงบประมาณ
- ได้ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ประกอบด้วย งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 92,400 ล้านบาท และงบกลางรายการชดใช้เงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน จำนวน 2,000 ล้านบาท ซึ่งในกรณีหน่วยงานมีความจำเป็นต้องช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยพิบัติ สามารถขอรับการจัดสรรจาก 2 ส่วนนี้ได้
นอกจากนั้น หน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ยังระดมความช่วยเหลือสู่พี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่และต่อเนื่อง เช่น
- กรมสรรพากร มีมาตรการการลดหย่อนภาษี
- กรมสรรพสามิต ช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบโดยการขยายเวลายื่นแบบภาษี
- กรมธนารักษ์ ยกเว้นค่าเช่าสำหรับผู้เช่าที่ราชพัสดุเป็นเวลา 1 ปี
- กรมชลประทาน เร่งผลักดันน้ำจากพื้นที่ลุ่มต่ำออกไปสู่แม่น้ำสายหลักโดยเร็ว
- กรมประชาสัมพันธ์ รายงานข้อมูล ข่าวสารด้านพยากรณ์อากาศ สถานการณ์น้ำในพื้นที่ ให้คำแนะนำ และเตรียมช่องทางการติดต่อเพื่อขอรับความช่วยเหลือ
และยังมีมาตรการอื่นๆ ที่ผมได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำข้อมูลและมาตรการเพิ่มเติมเพื่อเสนอให้ ครม. พิจารณาโดยด่วน
ผมได้เน้นย้ำว่า สิ่งใดที่ทำได้ก่อน ขอให้ดำเนินการได้เลย โดยไม่ต้องรอน้ำลด ให้เร่งเข้าไปช่วยเหลือผู้ติดค้างอยู่ในบ้าน ผู้ป่วยติดเตียง พร้อมให้ใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีทุกประเภท ทั้งภาพถ่ายดาวเทียมสำรวจความเสียหายเพื่อให้ความช่วยเหลือเยียวยา เพื่อให้ประชาชนที่ประสบภัยในขณะนี้ สามารถดำเนินชีวิตได้ต่อไป
ขอให้พี่น้องประชาชนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมได้เชื่อใจว่าผมและรัฐบาลได้รับทราบความเดือดร้อนของทุกท่านโดยไม่นิ่งนอนใจ ทั้งในพื้นที่ที่ผมได้ไปตรวจเยี่ยม หรือพื้นที่ที่ไม่ได้ไปก็ได้รับรายงานและติดตามอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา และจะเร่งดำเนินการอย่างเต็มที่ในช่วยบรรเทาทุกข์ให้กับทุกพื้นที่โดยเร็วที่สุดครับ