xs
xsm
sm
md
lg

“หมอธีระ”ชี้คนได้รับวัคซีนช่วยลดความเสี่ยงป่วยโควิดได้ 7 เดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า 25 ตุลาคม 2565
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 132,665 คน ตายเพิ่ม 631 คน รวมแล้วติดไป 633,047,936 คน เสียชีวิตรวม 6,583,622 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อิตาลี และสหรัฐอเมริกา

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 84.93 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 85.26

อายุมากยิ่งเสี่ยงต่อป่วยรุนแรงมากขึ้น

Vo AD และคณะ เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารการแพทย์สากล JAMA Network Open เมื่อ 20 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา

โดยศึกษาในกลุ่มประชากรทหารผ่านศึกจำนวน 110,760 คน ตั้งแต่ 15 ธันวาคม 2564 ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2565

สาระสำคัญคือ ยิ่งอายุมากขึ้น หากติดเชื้อโรคโควิด-19 ก็จะเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ

เมื่อเทียบกับกลุ่มประชากรวัย 45-49 ปีแล้ว คนอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปนั้น อายุที่เพิ่มขึ้นทุก 5 ปี จะมีความเสี่ยงต่อป่วยรุนแรงมากขึ้น 3, 5, 7, 9, และ 17 เท่าตามลำดับ

สำหรับคนที่ได้รับวัคซีน และที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น พบว่าจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะป่วยรุนแรงได้ ทั้งนี้ โดยภาพรวมแล้ว ผลในการลดความเสี่ยงจะคงอยู่ได้ราว 7 เดือน

แต่หากเป็นคนที่มีโรคประจำตัวที่ทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผลในการลดความเสี่ยงจะสั้นกว่าคนทั่วไป

ผลการศึกษานี้ช่วยตอกย้ำให้เราตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่เฉพาะคนสูงอายุและคนที่มีโรคประจำตัวเท่านั้น แต่หมายรวมถึงสมาชิกในครอบครัวที่อาศัยอยู่ในบ้านด้วย จำเป็นต้องใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท ป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ

การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องระหว่างที่ออกไปใช้ชีวิตประจำวันนอกบ้าน ทำมาหากิน หรือศึกษาเล่าเรียนก็ตาม จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อและช่วยลดความเสี่ยงที่จะนำพาเชื้อเข้ามาในบ้าน

นอกจากนี้ การไปรับวัคซีนให้ครบตามกำหนด พร้อมเข็มกระตุ้น จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะป่วยรุนแรงและเสียชีวิต

พึงระลึกเสมอว่า โควิด-19 ไม่ใช่ไข้หวัดธรรมดา ไม่ใช่ไข้หวัดใหญ่ ไม่กระจอก

ติดแล้ว ป่วยได้ ตายได้ และเสี่ยงต่อความผิดปกติระยะยาวอย่าง Long COVID ที่บั่นทอนคุณภาพชีวิต สมรรถนะการใช้ชีวิต และการทำงาน รวมถึงเป็นภาระค่าใช้จ่ายทั้งต่อผู้ป่วย ครอบครัว และประเทศ

การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อหรือไม่ให้ติดเชื้อซ้ำ...ย่อมดีที่สุด

ความใส่ใจสุขภาพของตนเองและครอบครัว จะเป็นตัวกำหนดความเสี่ยงของเราเอง

ด้วยความปรารถนาดี

อ้างอิง
Vo AD et al. Factors Associated With Severe COVID-19 Among Vaccinated Adults Treated in US Veterans Affairs Hospitals. JAMA Network Open. 20 October 2022.