กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ รายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 23 ตุลาคม 2565 ดังนี้
1.ผลการดำเนินงานตามมาตรการรองรับฤดูฝน ปี 2565 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เร่งกำกับติดตามหน่วยงานด้านน้ำบริหารจัดการน้ำเชิงรุก ระบุสถานการณ์น้ำท่วมเริ่มคลี่คลาย คาดเข้าสู่สภาวะปกติช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน พร้อมย้ำเทียบปริมาณฝนกับพื้นที่น้ำท่วมไม่เท่าปี 2554 แม้ฝนตกสูงกว่าค่าปกติถึง 21% และยังคงเน้นย้ำในการบูรณาการ โดยกำกับติดตามแก้ไขปัญหาอุปสรรคให้แก่หน่วยงานปฏิบัติภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เพื่อระบายน้ำในพื้นที่น้ำท่วมขัง ที่ได้เร่งระดมเครื่องจักรเครื่องมือ ใช้ทุกกลไกในการบริหารจัดการน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ที่ประชาชนได้รับผลกระทบอยู่ขณะนี้อย่างเร่งด่วน
2. สภาพอากาศ ในช่วงวันที่ 23 – 25 ต.ค. 65 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังอ่อนปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า ส่วนในช่วงวันที่
26 – 28 ต.ค. 65 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมทะเลจีนใต้ตอนบน ทำให้ลมตะวันออกที่พัดนำความชื้นเข้ามาปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน ส่งผลให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น สำหรับร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านบริเวณภาคใต้ตอนบน ทำให้ภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง ทำให้คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีกำลังอ่อนลง โดยมีคลื่นสูง 1 – 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง คลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำ 68,448 ล้าน ลบ.ม. (83%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำ 60,194 ล้าน ลบ.ม. (84%) ขนาดกลาง 355 แห่ง ปริมาณน้ำ 5,088 ล้าน ลบ.ม. (93%) และขนาดเล็ก 139,894 แห่ง ปริมาณน้ำ 3,166 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำ 20,553 ล้าน ลบ.ม. (83%) โดยเขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อยู่ในเกณฑ์น้ำมาก
4. สถานการณ์น้ำท่วม สถานการณ์อุทกภัยในชุมชนเมืองและพื้นที่เกษตรกรรม ปัจจุบันมี 29 จังหวัด ได้แก่ ภาคเหนือ 4 จังหวัด พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ และอุทัยธานี ภาคกลาง 10 จังหวัด ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม และสระบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10 จังหวัด ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ภาคตะวันออก 2 จังหวัด ปราจีนบุรี และฉะเชิงเทรา และภาคใต้ 3 จังหวัด ภูเก็ต สตูล และนราธิวาส