วานนี้ (12 ต.ค.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำท่วมว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่งและน้ำท่วมใน 33 จังหวัด ประชาชนได้รับผลกระทบ 224,774 ครัวเรือน มีการเปิดศูนย์อพยพใน 14 จังหวัด รวม 187 แห่ง โดยสถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบสะสม 191 แห่ง ประกอบด้วย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 1 แห่ง โรงพยาบาล 14 แห่ง สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ 8 แห่ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 168 แห่ง ศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง 5 แห่ง เปิดให้บริการได้ตามปกติ 146 แห่ง เปิดให้บริการบางส่วน 22 แห่ง และปิดหรือย้ายจุดบริการ 23 แห่ง ได้กำชับให้สถานบริการในพื้นที่เสี่ยงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เตรียมสำรองยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางหารแพทย์ให้เพียงพอต่อการให้บริการ และดูแลอาคารสถานที่ ครุภัณฑ์ ด้วยหลัก “ป้องกัน ยกสูง และเคลื่อนย้าย”
ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 จนถึงปัจจุบัน หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ได้จัดทีมปฏิบัติการด้านการแพทย์รวม 551 ทีม ออกให้บริการเชิงรุกต่อเนื่อง ทั้งการเยี่ยมบ้าน ให้สุขศึกษา แจกยาชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัย และตรวจรักษาโรคทั่วไป รวมผู้รับบริการ 91,532 ราย ส่วนใหญ่เป็นการเจ็บป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ ระบบผิวหนัง เช่น แพ้ ผื่นคัน ระบบกล้ามเนื้อและกระดูก และปวดศีรษะ/เวียนศีรษะ” นพ.โอภาสกล่าว
นพ.โอภาส กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้น มีรายงานผู้เสียชีวิตสะสมแล้ว 87 ราย บาดเจ็บ 21 ราย โดยสาเหตุการเสียชีวิตเกิดจากการจมน้ำถึง 82 ราย จึงขอเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม ให้ระมัดระวังอันตรายจากการจมน้ำ ควรหลีกเลี่ยงการเดิน หรือขับรถฝ่ากระแสน้ำเชี่ยว หากต้องเข้าพื้นที่น้ำท่วม หรือต้องทำกิจกรรมทางน้ำ ขอให้เตรียมอุปกรณ์ป้องกันการจมน้ำติดไปด้วย เช่น เสื้อชูชีพ ห่วงยาง ถังแกลลอน หรืออุปกรณ์อื่นๆ ที่ช่วยให้ลอยตัวได้
ส่วนพ่อแม่ผู้ปกครองต้องดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้เด็กลงเล่นน้ำ สำหรับเจ้าหน้าที่ที่จะต้องออกปฏิบัติการให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย ต้องสวมเสื้อชูชีพทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยและลดการสูญเสียจากอุบัติเหตุจมน้ำ