นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า วันที่ 15 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันล้างมือโลก (Global Hand Washing Day) โดยในปี 2565 คำขวัญวันล้างมือโลก คือ “รวมกันเป็นหนึ่งเพื่อสุขอนามัยของมือ : Unite for Universal Hand Hygiene” ถือเป็นการรณรงค์สร้างความตระหนักให้ประชากรทั่วโลกล้างมือด้วยน้ำและสบู่ ซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ และเสียค่าใช้จ่ายน้อยในการป้องกันโรคติดต่อ โดยจากผลสำรวจพฤติกรรมการล้างมือของคนไทย พบว่ามีการล้างมือเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการรณรงค์ของกรมอนามัยในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 คือ รักษาระยะห่าง หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด สวมหน้ากากอนามัยเมื่อไปในสถานที่เสี่ยง ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ ซึ่งข้อมูลผลการสำรวจระหว่างวันที่ 2 กันยายน - 6 ตุลาคม 2565 จำนวน 5,191 ราย พบมีการล้างมือทุกครั้งหลังออกจากห้องส้วมมากที่สุด ถึงร้อยละ 95.47 ล้างมือหลังสัมผัสสิ่งสกปรก เช่น น้ำมูก น้ำลาย ขยะ ร้อยละ 95.40 ล้างมือก่อนเตรียม ปรุง ประกอบอาหาร ร้อยละ 89.77 โดยล้างมือด้วยน้ำและสบู่มากที่สุด ร้อยละ 89.80 ล้างด้วยเจลแอลกอฮอล์ ร้อยละ 62.70 และในช่วงสถานการณ์โควิด-19 มีการล้างมือบ่อยครั้งด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ มากถึงร้อยละ 93.71
ทั้งนี้ การล้างมือด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ เป็นวิธีที่ง่ายในการให้ประชาชนปฏิบัติให้เป็นพฤติกรรมสุขภาพ และเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญในการป้องกัน และหยุดการแพร่ระบาดของโรคติดต่อที่มีประสิทธิภาพ จึงขอเชิญชวนภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ร่วมรณรงค์การล้างมือที่ถูกวิธีด้วยน้ำและสบู่ โดยให้ยึดหลัก 2 ก่อน 5 หลัง และ 7 ขั้นตอน ซึ่ง 2 ก่อน คือ ล้างมือก่อนทำอาหาร และกินอาหาร ส่วน 5 หลัง คือ หลังเข้าห้องส้วม หยิบจับสิ่งสกปรก เยี่ยมผู้ป่วย สัมผัสหรือเล่นกับสัตว์ และหลังกลับมาจากนอกบ้าน สำหรับ 7 ขั้นตอน คือ การล้างมือที่ถูกวิธีด้วยน้ำและสบู่ ดังนี้ 1) ฝ่ามือถูกัน 2) ฝ่ามือถูหลังมือ และนิ้วถูซอกนิ้ว 3) ฝ่ามือถูฝ่ามือ และนิ้วถูซอกนิ้ว 4) หลังนิ้วมือถูฝ่ามือ 5) ถูนิ้วหัวแม่มือโดยรอบด้วยฝ่ามือ 6) ปลายนิ้วมือถูขวางฝ่ามือ และ 7) ถูรอบข้อมือ โดยทุกขั้นตอนทำ 5 ครั้ง สลับกันทั้ง 2 ข้าง เพื่อเป็นการป้องกันโรคติดต่อและสร้างสุขอนามัยที่ดีส่วนบุคคล