นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊ก Thanathorn Juangroongruangkit ระบุว่า นิรโทษกรรม-ปฏิรูปสถาบัน-ICC บันไดสามขั้นสู่การคืนความยุติธรรมในยุคเปลี่ยนผ่าน
เมื่อวานนี้ผมได้มีโอกาสร่วมเสวนาในหัวข้อ “ความยุติธรรมในยุคเปลี่ยนผ่าน” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ 6 ตุลา เผชิญหน้าปีศาจ ซึ่งจัดขึ้นที่ Kinjai Contemporary
ประเด็นที่ผมอยากย้ำอีกครั้งในที่นี้ คือความจำเป็นที่รัฐจะต้องคืนความเป็นธรรมให้กับผู้เห็นต่าง เพื่อให้สังคมก้าวไปข้างหน้าได้ หลุดพ้นจากวังวนความขัดแย้ง แตกแยก เกลียดชังไม่สิ้นสุด
อย่าคิดว่าเรื่องนี้เป็นไปไม่ได้ เพราะท่ามกลางความเกลียดชังอย่างถึงที่สุดที่เกิดขึ้นในยุค 6 ตุลา คนไทยถูกบ่มเพาะให้เกลียดชังนักศึกษาผู้ถูกป้ายสีว่าเป็นคอมมิวนิสต์ถึงขั้นดีอกดีใจกับการสังหารหมู่ในธรรมศาสตร์ เผาคนทั้งเป็น ใช้ไม้แหลมตอกอก กระทำทารุณกรรมศพต่างๆ นานา แม้แต่วัดในกรุงเทพฯ ยังไม่รับเผาศพ “พวกล้มเจ้า”
ผ่านไปเพียง 4 ปี รัฐบาลในสมัยนั้นยังออกนโยบาย 66/23 นิรโทษกรรมให้กับนักศึกษา คนที่เคยจับอาวุธขึ้นสู้กับรัฐบาล ได้กลับมาเป็นผู้มีบทบาทสำคัญระดับรัฐมนตรีหลายคน และยังเป็นนักการเมืองคนสำคัญที่สร้างความก้าวหน้าให้กับประเทศมาจนถึงปัจจุบัน เช่นคุณจาตุรนต์ ฉายแสง คุณภูมิธรรม เวชยชัย คุณหมอพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช หรือคุณสุทัศน์ เงินหมื่น
การนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองทั้งหมดที่เกี่ยวพันกับความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่รัฐประหาร 2557 เป็นต้นมา โดยเฉพาะนักโทษคดี 112 จึงเป็นก้าวสำคัญก้าวแรกต่อการสร้างสังคมที่ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้ ไปสู่ความก้าวหน้าได้
แต่เท่านั้นยังไม่พอ
มีปัจจัยอีก 2 ประการที่จะนำไปสู่การสร้างสังคมที่เติบโตบนความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้ สังคมที่คนเห็นต่างจะไม่ถูกฆ่าหรือกลายเป็นอาชญากร นั่นก็คือการยืนยันเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่อการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ วันนี้ ต้องยอมรับว่ามีคนจำนวนหนึ่งตั้งคำถามถึงบทบาทของสถาบันกษัตริย์ และมีความคิดในเรื่อง Republic ว่าอาจเป็นรูปแบบการปกครองที่เหมาะสมกับประเทศไทย คำถามของผม ด้วยความห่วงใยต่อสถาบันกษัตริย์ และต่ออนาคตของประเทศ ด้วยความตระหนักถึงความหนักของปัญหานี้ ผมถามว่าคนที่คิดแบบนี้สมควรถูกฆ่าตายหรือ? พวกเขาควรถูกตราหน้าว่าเป็นอาชญากรหรือไม่? คุณอยู่ร่วมกับพวกเขาในสังคมได้รึเปล่า?
ผมพูดในฐานะคนที่มีคดีความ 112 อยู่กับตัวแล้วหลายคดี ว่านี่คือหน้าที่ของพวกเราประชาชน ที่จะร่วมกันยืนยันว่าการพูดถึงประเด็นปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เป็นเสรีภาพที่ทำได้ ไม่ใช่อาชญากรรม ถ้าพูดกัน 10 คน ก็จะติดคุกทั้ง 10 คน แต่ถ้ามีคนพูดเป็นพันหรือเป็นหมื่นคน จะไม่มีใครต้องติดคุกแม้แต่คนเดียว
และปัจจัยสุดท้ายที่จะทำให้อาชญากรรมที่ชนชั้นนำกระทำต่อผู้เห็นต่างซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่เกิดขึ้นอีก ก็คือการยุติวัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวล หากกระบวนการภายในไม่สามารถจัดการได้ สิ่งที่รัฐบาลชุดต่อไปต้องเร่งทำ ก็คือการให้สัตยาบัน อยู่ภายใต้เขตอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือ ICC เพื่อสอบสวนพิจารณาคดีและนำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมายสากล
ทั้งหมดนี้ไม่ได้ทำเพื่อให้ใครคนใดคนหนึ่งพ้นผิด หรือใครคนใดคนหนึ่งต้องถูกลงโทษ แต่เป็นการคืนความเป็นธรรมให้กับทั้งสังคม เพื่อให้เรากลายเป็นสังคมที่อยู่ร่วมกันได้ ชำระบาดแผลในอดีต และป้องกันไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมซ้ำๆ ในอนาคต