นายเกรียงไกร ภาคพิเศษ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 กรมชลประทาน ชี้แจงกรณีมีการนำเสนอข่าวน้ำชีและน้ำมูลเอ่อท่วมบ้านเรือนชาวบ้าน 2 อำเภอในบุรีรัมย์ ไร่นาเสียหายกว่า 4 หมื่นไร่ สัตว์เลี้ยงไม่มีอาหารกิน แม่น้ำมูล อ.สตึก ปริมาณสูงสุดในรอบ 50 ปี จ่อท่วมเขตเศรษฐกิจ เทศบาลเตือนให้ขนของขึ้นที่สูงแล้ว ว่า ปริมาณฝนที่ตกต่อเนื่องตลอดในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับอิทธิพลของพายุโนรู ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลลงสู่แม่มูลและลำน้ำสาขาเป็นจำนวนมาก หากนับเป็นสถิติ พบว่าปริมาณน้ำจะมากที่สุดในรอบ 25 ปี โดยปริมาณน้ำได้ไหลสะสมมาตั้งแต่บริเวณต้นน้ำในเขตจังหวัดนครราชสีมา ไหลผ่านจังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และไปรวมกับแม่น้ำชีที่อำเภอเมืองอุบลราชธานี ก่อนที่จะไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ตามลำดับ
สถานการณ์ปัจจุบัน (10 ต.ค. 65) ปริมาณน้ำในลำน้ำสาขาของแม่น้ำมูลเริ่มลดลง ส่วนระดับน้ำในแม่น้ำมูล บริเวณพื้นที่ตอนบนในเขต อ.โชคชัย อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา ระดับน้ำเริ่มทรงตัว และมีแนวโน้มที่จะลดลงเช่นกัน ยกเว้นที่ อ.พิมาย ที่มีระดับน้ำเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ทางด้าน อ.คูเมือง และ อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ ระดับน้ำลดลงจากวันก่อนเล็กน้อย แต่ยังคงสูงกว่าตลิ่งอยู่ประมาณ 0.90 เมตร ส่วนในเขต อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ อ.ราษีไศล และ อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ ระดับยังคงเพิ่มขึ้น เนื่องจากยังมีน้ำจากพื้นที่ตอนบนไหลลงไปสมทบ แต่เพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยลง และยังมีน้ำสูงกว่าตลิ่งอยู่ประมาณ 1.40-3.80 เมตร
ทั้งนี้ กรมชลประทานได้เร่งระบายน้ำในแม่น้ำมูลลงสู่แม่น้ำโขงมาอย่างต่อเนื่อง โดยการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ และเครื่องสูบน้ำระบบไฮโดรโฟลว์ (Hydroflow) เพื่อเร่งระบายน้ำในแม่น้ำมูลลงสู่แม่น้ำโขงให้เร็วขึ้น ปัจจุบันได้ทยอยถอนเครื่องผลักดันน้ำและเครื่องสูบน้ำออกจากแม่น้ำมูลแล้ว เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ปากมูล ต่ำกว่าระดับน้ำในแม่น้ำมูลค่อนข้างมาก ทำให้การระบายน้ำเป็นไปด้วยดี จึงขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารจากกรมชลประทานอย่างใกล้ชิด จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ