นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี ได้มีประกาศจังหวัดนนทบุรี ฉบับที่ 1 / ปีงบประมาณ 2566 "เรื่อง เขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย/เขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน(อุทกภัย) ในพื้นที่อำเภอปากเกร็ด"
ด้วยได้เกิดเหตุ อุทกภัย สาเหตุจากพายุ "โนรู" กอปรกับภาวะฝนตกหนัก และฝนตกสะสมต่อเนื่อง ส่งผลให้มีน้ำไหลหลากผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น ระดับน้ำท้ายเขื่อนเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.30-0.60 เมตร ทำให้เกิดน้ำเอ่อล้นตลิ่ง ในพื้นที่อำเภอปากเกร็ด เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2565 เวลา 17.00 น. ซึ่งภัยดังกล่าวเป็นสาธารณภัย/ภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน บ้านเรือนพื้นที่การเกษตร สิ่งสาธารณประโยชน์ และความเป็นอยู่ของประชาชน เพื่อประโยชน์ในการจัดการสาธารณภัยให้เป็นไปตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติและการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน เร่งด่วน อาศัยอำนาจตามความ ข้อ 20 วรรคสามของระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562 ประกอบกับแผนการป้องกันและบรรเทาสาธรณภัยแห่งชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัด/ผู้อำนวยการจังหวัด จึงประกาศให้พื้นที่ หมู่ที่ 1-5 ตำบลบางพลับ หมู่ที่ 1-10 ตำบลท่าอิฐ หมู่ที่ 1-7 ตำบลเกาะเกร็ด หมู่ที่ 1-6 ตำบลอ้อมเกร็ด หมู่ที่ 1-6 ตำบลคลองพระอุดม หมู่ที่ 1-5 ตำบลบางตะไนย์ และ หมู่ที่ 1-12 ตำบลคลองข่อย เป็นเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย/เขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน เพื่อให้ส่วนราชการหน่วยงาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในเขตพื้นที่ประสบภัยดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 แผนการป้องกันและกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง ประกาศ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว และดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนด ทั้งนี้ ต้องไม่เกิน 3 เดือน นับแต่วันที่เกิดภัยประกาศ ณ วันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2565
สำหรับพื้นที่ทั้ง 7 ตำบล มีผู้ประสบสาธารณภัยจำนวน 7,099 ครัวเรือน แบ่งเป็น ตำบลท่าอิฐ 2,335 ครัวเรือน ตำบลเกาะเกร็ด 1,678 ครัวเรือน ตำบลบางตะไนย์ 1,264 ครัวเรือน ตำบลคลองพระอุดม 980 ครัวเรือน ตำบลอ้อมเกร็ด 508 ครัวเรือน ตำบลบางพลับ 260 ครัวเรือน และ ตำบลคลองข่อย 74 ครัวเรือน