นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามสถานการณ์น้ำทั่วประเทศอย่างใกล้ชิด รวมถึงสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งขณะนี้มีน้ำหลากจากทางตอนเหนือไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งล่าสุด สถานการณ์ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ +17.64 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง ซึ่งสูงกว่าระดับเก็บกัก 1.14 (+16.50 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง)
ทั้งนี้ เพื่อรักษาเสถียรภาพความมั่นคงของการระบายน้ำและตัวเขื่อนเจ้าพระยา กรมชลประทานจำเป็นต้องควบคุมระดับน้ำด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ให้อยู่ในเกณฑ์ +17.60 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง ซึ่งจะส่งผลทำให้ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอยู่ในอัตรามากกว่า 2,900-3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ตั้งแต่วันที่ 8 ต.ค.นี้ รวมทั้งกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ได้คาดการณ์ระดับน้ำทะเลหนุน ซึ่งส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณกองบัญชาการกองทัพเรือกรุงเทพมหานคร ป้อมพระจุลจอมเกล้าฯ จังหวัดสมุทรปราการ และพื้นที่ใกล้เคียง จะเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติด้วย โดยระดับน้ำจะมีความสูงประมาณ 1.90-2.20 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง ในช่วงวันที่ 8-13 ตุลาคมนี้
นายอนุชา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีห่วงใยประชาชนที่อยู่ในบริเวณพื้นที่จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่อาจได้รับผลกระทบจากระดับน้ำบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาที่เพิ่มขึ้น ตั้งแต่บริเวณพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท อ.อินทร์บุรี อ.เมืองสิงห์บุรี และอ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี อ.ป่าโมก และ อ.ไชโย คลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล อ.เสนา และ อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.10-0.15 เมตร รวมทั้งบริเวณตั้งแต่ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา จ.ปทุมธานี จ.นนทบุรี กรุงเทพมหานคร และจ.สมุทรปราการ ซึ่งระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 0.15-0.30 เมตร
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีขอให้จังหวัดและหน่วยงานในพื้นที่ดังกล่าวเตรียมความพร้อมรับมือทุกด้าน เพื่อดูแลช่วยเหลือประชาชนให้ทันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะให้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบความมั่นคงอาคารป้องกันริมแม่น้ำและเสริมคันบริเวณจุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ รวมทั้งเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที ขณะเดียวกัน ให้มีปรับแผนบริหารจัดการน้ำ อ่างเก็บน้ำ เขื่อนระบายน้ำ รวมทั้งใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นแก้มลิงหน่วงน้ำและรองรับน้ำหลาก เพื่อบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ สำหรับเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท
นอกจากนี้ ขอให้บริหารจัดการน้ำโดยใช้ระบบชลประทานในการนำน้ำเข้าคลองต่างๆ ทั้งด้านฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาให้ได้มากที่สุด ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยาในเขตจ.ชัยนาทและอุทัยธานี ให้เตรียมป้องกันระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ และสิ่งสำคัญคือ การประชาสัมพันธ์ข้อมูลเพื่อแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมน้ำนอกแนวคันกั้นน้ำ แนวเขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร และพื้นที่จุดเสี่ยงบริเวณที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำให้รับทราบล่วงหน้า เพื่อประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวสามารถเตรียมความพร้อมรับมือได้กับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้ทันท่วงที