xs
xsm
sm
md
lg

“หมอธีระวัฒน์”ชี้งีบบ่อยส่อเสี่ยงสมองเสื่อม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า งีบบ่อย ส่อเสี่ยงสมองเสื่อม (ตอนที่ 1)

หมอดื้อ

งีบบ่อย ส่อเสี่ยงสมองเสื่อม (ตอนที่ 1)
พฤติกรรมการงีบ (nap) ตอนกลางวันเป็นประเด็นร้อน และเป็นที่งงงวยกันมาตลอดว่าจะเอาอย่างไรแน่ เพราะในหลายประเทศทั้งแถบเมดิเตอร์เรเนียน เช่น สเปน รวมกระทั่งไม่นานมานี้ ลามถึงฝั่งยุโรปและสหรัฐฯ

การงีบตอนบ่ายถือเป็นประเพณีหรือวัฒนธรรมด้วยซ้ำ อย่างที่เรียกว่า Siestas นัยว่า เป็นการเพิ่มพูนประสิทธิภาพของการทำงาน และคนที่ทำงานไม่เป็นเวลาอยู่เวรกะกลางคืน ดึกยาวไปถึงเช้า ซึ่งรวมอาชีพยาม หมอ พยาบาล ต่างก็จำเป็นต้องเปลี่ยนเวลานอน เป็นตอนกลางวันแทน ซึ่งในอาชีพหมอยังต้องทำงานต่อยืดยาวไปเป็น 48 ถึง 72 ชั่วโมง ดังนั้นใช้หลับนกหรืองีบหลับเป็นพักๆแทน

ทีนี้ย้อนกลับมาเล็กน้อย อย่างที่เคยเรียนให้ทราบมาตลอดว่า การนอนดีเป็นเรื่องสำคัญมาก คำว่าดีไม่ใช่เพียงแค่ระยะเวลาของการนอนแต่หมายรวมถึงคุณภาพที่มีการหลับที่ต้องมีหลับลึก และมีการระบายของเสียออกจากสมอง หลังจากที่มีการใช้สมองมาตลอดโดยผ่านทางระบบท่อคล้ายน้ำเหลือง (glymphatic system) ที่ได้เคยเล่าให้ฟังไปแล้ว

ความแปรปรวนในการหลับและวงจรการหลับ-ตื่น ส่อให้เห็นถึงความผิดปกติของการทำงานของสมอง ที่เห็นได้ชัดเจนและบ่อยคือ ในโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งเป็นโรคสมองเสื่อมชนิดที่พบบ่อยที่สุด อย่างน้อย 70 ถึง 80% ของสมองเสื่อมทั้งหมด ความแปรปรวนที่เกิดขึ้นจะพบได้ตั้งแต่แรกเริ่มของโรค โดยที่มีการตื่นบ่อยเวลากลางคืน ระยะของการหลับลึกที่ปล่อยให้สมองมีการพักผ่อน โดยคลื่นสมองมีจังหวะช้าลง จะลดน้อยถอยลง แม้ดูเหมือนว่าระยะเวลาของการหลับทั้งคืนนั้น จะยังไม่กระทบมาก แต่จะผนวกเข้าไปกับการนอนกลางวันมากขึ้น

มิหนำซ้ำ ในตอนกลางวันจะง่วงเหงาหาวนอนมาก และงัวเงียไม่ค่อยยอมตื่น และที่เป็นสัญญาณเตือนคือในช่วงเวลาโพล้เพล้ ตอนเย็นพลบค่ำ จะเกิดอารมณ์หงุดหงิด พฤติกรรมแปรปรวน จนถึงวุ่นวายอธิบายไม่ได้ ที่ฝรั่งเรียกกันว่า sun downing และเหล่านี้อาจจะเกิดนำมาก่อนหน้า ที่จะเริ่มมีการเสื่อมถอยของการทำงานของสมองที่เห็นได้ชัดด้วยซ้ำ

กลไกของการควบคุมการตื่นและหลับนั้น เหมือนกับการเปิด-ปิดสวิตช์ โดยมีกลุ่มเซลล์สมองที่กระตุ้นให้ตื่นหรือเปิดสวิตช์ WPN (wake-promoting neurons) อาทิ Noradrenergic locus coeruleus (LC) และ Orexin/hyprocretin-producing neuron ที่อยู่ในบริเวณ Lateral hypo thalamus area และอีกกลุ่มคือ Histaminergic neurons ใน tuberomamillary nucleus (TMN)

ขณะที่สวิตช์เปิด กลุ่มเซลล์ประสาทหลับ SPN (sleep–promoting neurons) จะถูกยับยั้ง ทั้งสองกลุ่มนี้อยู่ในบริเวณที่ลึกลงไปในเนื้อสมอง

สำหรับโปรตีนพิษที่เป็นตัวก่อเหตุอัลไซเมอร์นั้น ตัวที่รู้จักกันดีคือ “เบตาเอมีลอยด์” ซึ่งในตอนระยะแรกจะสะสมในบริเวณที่ผิวหรือเปลือกสมอง แต่มีอีกตัวคือ “โปรตีนทาว” ที่มีบทบาทสำคัญในการทำให้เซลล์สมองตายและทำให้โรครุนแรง ทั้งนี้โปรตีนทาวจะสะสมและปรากฏในบริเวณสมองส่วนลึกและที่ก้านสมองก่อนที่จะแพร่กระจายขึ้นไปถึงส่วนอื่น

จึงมีความเป็นไปได้ว่า โปรตีนพิษตัวหลังนี้ น่าจะเป็นตัวการสำคัญ ที่อธิบายปรากฏการณ์ผันผวนของการนอน แต่เนื่องจากการตรวจหาโปรตีนทาว ในตำแหน่งของสมอง ในปัจจุบันใช้เทคนิคเชิงเวชศาสตร์นิวเคลียร์ PET scan ซึ่งยังไม่แม่นยำพอที่จะระบุตำแหน่งของโปรตีนพิษในกลุ่มเซลล์สมองที่อยู่ลึกรวมทั้งที่อยู่ในก้านสมอง

และด้วยเหตุนี้เองเป็นที่มา ที่คณะผู้ศึกษาจากหลายสถาบันในสหรัฐฯ บราซิลและเยอรมนี (รายงานในวารสาร Alzheimer’s Dement ปี 2019) โดยทำการศึกษาสมองของผู้ป่วยที่เสียชีวิตและเป็นโรคสมองเสื่อมทั้งอัลไซเมอร์ CBD (Cortical basal degeneration) และ PSP (Progressive supranuclear palsy) และเจาะจงดูการกระจายตัวของโปรตีนทาวในที่ต่างๆ ในเครือข่ายเซลล์ที่กระตุ้นให้ตื่น และพร้อมกันนั้นดูรูปร่างของเซลล์และจำนวนที่แสดงถึงความผิดปกติไปพร้อมกัน ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นถึงพิษของโปรตีนทาว

ผลปรากฏว่าในอัลไซเมอร์ พบทั้งการสะสมโปรตีนพิษทาว ในกลุ่มเซลล์ประสาททั้งสามกลุ่ม (LC, LHA, TMN) และมีการเสื่อมสลายของเซลล์ประสาทไปพร้อมกัน แต่ในสมองเสื่อม CBD และ PSP แม้จะมีการสะสมของทาว แต่จำนวนเซลล์ประสาทยังคงอยู่ไม่เปลี่ยน แปลงหรือเปลี่ยนแปลงน้อยมาก

ทั้งนี้ เมื่อประมวลลักษณะอาการทางคลินิก จะพบความผิดปกติของการหลับในรูปแบบที่ต่างกัน โดยที่ในอัลไซเมอร์ ระยะเวลาของการนอนยังค่อนข้างปกติ แต่มีการตื่นบ่อยเป็นระยะ (sleep fragmentation) พ่วงไปกับการงีบหลับบ่อยตอนกลางวันและปลุกให้ตื่นยาก แถมยังมีสับสนตอนโพล้เพล้

ใน PSP ระยะเวลาของการนอนจะสั้นลงและหลับยาก และช่วงเวลาของการหลับแบบมีและไม่มีการกลอกลูกตาเร็ว (REM และ NREM) จะสั้นลง พร้อมกับที่คลื่นไฟฟ้าแกมมา จะมีมากขึ้นทั้งในขณะตื่นและหลับ (hyperarousal) ใน CBD ความแปรปรวนของการหลับตื่นจะไม่ชัดเจนเท่ากับในอัลไซเมอร์และ PSP

ผลของการศึกษานี้คือ ให้ฉากทัศน์ที่ต่างกับที่เคยเชื่อว่า ในอัลไซเมอร์การที่ปลุกตื่นยากเมื่องีบหลับตอนกลางวัน เป็นกระบวนการชดเชยจากที่ไม่ได้นอนหรือนอนไม่มีคุณภาพ แต่เป็นไปได้ว่า กลุ่มเซลล์สมองเครือข่ายที่กระตุ้นให้ตื่นผิดปกติไปมากกว่า และเครือข่ายนี้ เปราะบางและเสียหายได้ง่ายจากโปรตีนทาวของอัลไซเมอร์ (AD–Tau)

ในขณะที่โปรตีนทาวของ CBD และ PSP แม้ว่าจะพบในกลุ่มเซลล์ประสาทเครือข่ายนี้เช่นกัน แต่ประหนึ่งว่าไม่เป็นพิษอันตรายเท่าไหร่ ทั้งนี้ PSP และ CBD จัดเป็นกลุ่มที่เป็นสมองเสื่อมกำเนิดตรงจากโปรตีนทาว (primary tauopathy) แบบ 4R (four repeat)

โปรตีนพิษทาว ในอัลไซเมอร์ ถือว่าเป็นกระบวนการตาม (Secondary) และในปัจจุบัน ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์ สามารถวัดระดับโปรตีนทาวในเลือดได้ phosphorylated หรือ pTau 181 231 ซึ่งสัมพันธ์กับพยาธิสภาพ neurofibrillary tangle ที่เกิดขึ้นในสมอง