xs
xsm
sm
md
lg

กรมควบคุมโรคเตือนเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมต่อเนื่อง แนะ"4 ห้าม 4 ให้"ป้องกันอุบัติเหตุจมน้ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สืบเนื่องจากอิทธิพลร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมภาคเหนือด้านตะวันตก ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ประกอบกับสถานการณ์พายุ "โนรู" (NORU) ที่เข้าประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2565 ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง สำหรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้และอ่าวไทยส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก

จากรายงานสถานการณ์สาธารณภัยของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน ถึงวันที่ 3 ตุลาคม 2565 พบมีสถานการณ์ในพื้นที่ 25 จังหวัด และปัจจุบัน (3 ตุลาคม 65) ยังคงมีสถานการณ์ใน 16 จังหวัด กรมควบคุมโรค มีความห่วงใยประชาชนในพื้นที่ ที่มีน้ำท่วมให้ระมัดระวังภัยสุขภาพที่มีสาเหตุมาจากการจมน้ำเสียชีวิต ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่พบมากที่สุดในช่วงที่ผ่านมา

ทั้งนี้ จากการเฝ้าระวังเหตุการณ์การจมน้ำในช่วงอุทกภัย ของกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค ในเบื้องต้นพบว่ามีเหตุการณ์การจมน้ำเกิดขึ้น 7 เหตุการณ์ เสียชีวิต 7 ราย เพศชาย 4 ราย อายุ 17, 18 , 44 และ 45 ปี เพศหญิง 3 ราย อายุ 55, 58, และ 62 ปี บาดเจ็บ 1 ราย อายุ 11 ปี โดยในจำนวนนี้มี 2 เหตุการณ์ มีสาเหตุจากการออกหาปลา อีก 1 เหตุการณ์ มีสาเหตุเนื่องจากเด็ก 4 คน ชวนกันไปเล่นน้ำบริเวณฝายน้ำล้นและมีน้ำท่วม และอีก 1 เหตุการณ์ จมน้ำเสียชีวิตภายในบ้านที่มีน้ำท่วมสูง และช่วงอุทกภัย มีผู้บาดเจ็บจากไฟฟ้าช็อต 7 ราย เพศหญิง 4 ราย เพศชาย 3 ราย อายุระหว่าง 12-22 ปี สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากไฟฟ้ารั่วที่เสาไฟ

นายแพทย์ธเรศ กล่าวเพิ่มเติมว่า การป้องกันการจมน้ำ ขอให้ประชาชนยึดหลัก "4 ห้าม 4 ให้" โดย 4 ห้าม ได้แก่ ห้ามหาปลาในบริเวณที่มีน้ำท่วมขังโดยเฉพาะในช่วงน้ำไหลหลาก ห้ามดื่มสุราแล้วลงไปในน้ำหรือเล่นน้ำ เนื่องจากจะเสี่ยงเกิดตะคริวได้สูง รวมทั้งหากเมาสุรา จะทำให้เสียการทรงตัว และไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ห้ามเดินผ่านหรือขับรถฝ่ากระแสน้ำท่วม เพราะระดับน้ำเพียง 6 นิ้ว ก็ทำให้รถเสียหลักและล้มได้ และ ห้ามเด็กลงเล่นน้ำ เพราะอาจพลัดตกหรือถูกน้ำพัดได้ ให้อพยพไปยังพื้นที่สูง ส่วน 4 ให้ ได้แก่ ให้รีบออกจากพื้นที่ในกรณีเกิดน้ำท่วม ให้สวมเสื้อชูชีพ หรือนำอุปกรณ์ที่ลอยน้ำได้ติดตัวไปด้วย เช่น ถังแกลลอนพลาสติกเปล่าปิดฝาและผูกเชือกคล้องสะพายแล่งไว้ที่ลำตัว ให้เดินทางเป็นกลุ่ม เพื่อช่วยเหลือกันเวลาฉุกเฉิน และ ให้ติดตามข้อมูลข่าวสารสภาพอากาศตามประกาศเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ ขอให้ประชาชนระมัดระวังภัยสุขภาพที่เกิดจากน้ำท่วม คือ การถูกไฟฟ้าช็อต ให้สับคัตเอาต์ ตัดกระแสไฟ พร้อมย้ายอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ปลั๊กไฟขึ้นที่สูง ไม่ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าขณะตัวเปียกชื้น ห้ามใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่โดนน้ำท่วม และหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำเข้าใกล้ปลั๊กไฟ สายไฟหรือเสาไฟฟ้า หากเกิดไฟฟ้ารั่ว จะมีกระแสไฟฟ้ากระจายเป็นวงกว้างไม่ต่ำกว่า 3 เมตร และหากเจอคนถูกไฟฟ้าดูดให้ปฏิบัติ ดังนี้ ตัดกระแสไฟในที่เกิดเหตุทันที ห้ามสัมผัสตัวผู้ที่ถูกไฟฟ้าดูดด้วยมือเปล่า ให้ใช้ถุงมือยาง ผ้าแห้ง หรือพลาสติกแห้ง เพื่อเคลื่อนย้ายผู้ประสบเหตุออกจากพื้นที่ หากผู้ประสบภัยหมดสติ ควรทำการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) ในบริเวณพื้นที่แห้ง และโทรแจ้ง 1669 ทีมแพทย์ฉุกเฉินทันที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422