เพจกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน โพสต์ระบุว่า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ชี้แจงกรณีลูกจ้างโพสต์บ่นนายจ้าง สามารถเลิกจ้างได้ โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ต้องพิจารณาว่าข้อความที่โพสต์มีเจตนาหมิ่นประมาทนายจ้างจนได้รับเสียหายหรือไม่หากไม่ใช่ถ้อยคำที่สร้างความเสียหายต่อชื่อเสียง หรือกิจการของนายจ้าง นายจ้างเลิกจ้างต้องจ่ายค่าชดเชย
นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยถึงกรณีที่มีข่าวเผยแพร่บนสื่อออนไลน์ว่าลูกจ้างโพสต์บ่นนายจ้าง สามารถเลิกจ้างได้ โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ทางกรมฯได้ตรวจสอบข้อมูลจากประเด็นดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และขอชี้แจงให้ทราบว่าการที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ด้วยเหตุที่ลูกจ้างโพสต์บ่นนายจ้าง ต้องดูว่าข้อความที่โพสต์เป็นข้อความที่หมิ่นประมาทนายจ้างจนได้รับเสียหายต่อชื่อเสียง หรือจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายต่อกิจการหรือไม่ หากข้อความที่โพสต์เป็นข้อความที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทนายจ้าง หรือจงใจให้นายจ้างได้รับความเสียหายตามมาตรา 119 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กรณีนี้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างได้ โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง แต่หากข้อความที่โพสต์เป็นเพียงถ้อยคำที่ไม่สุภาพไม่ถึงกับเป็นการเสียดสี เหยียดหยาม หรือดูหมิ่นนายจ้าง จึงไม่ถือเป็นเรื่องร้ายแรงหากนายจ้างเลิกจ้าง โดยที่ไม่เคยตักเตือนลูกจ้างเป็นหนังสือก่อน นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้กับลูกจ้าง
นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่จะเลิกจ้างลูกจ้างต้องดูความเหมาะสมแล้วแต่กรณี หากไม่ใช่การกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อนายจ้าง แล้วนายจ้างกลับเลิกจ้าง ก็จะเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมได้ ทั้งนี้ นายจ้าง หรือลูกจ้าง มีข้อสงสัยเกี่ยวกับปัญหาด้านแรงงาน สามารถขอคำปรึกษาได้ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัดหรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครทุกพื้นที่ หรือโทรสายด่วน 1506 กด 3 หรือ 1546