จากกรณีที่มีการโพสต์ให้ข้อมูลโดยระบุว่า เตือนภัยประชาชนที่ซื้อรถไฟฟ้าจากบริษัทผู้ผลิตในเอเชีย ไม่สามารถจดทะเบียนได้ ทางกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า การจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้า เป็นการขออนุญาตใช้รถต่อนายทะเบียน โดยรถที่จะนำมาจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าได้นั้น ต้องมีสภาพมั่นคง แข็งแรง มีลักษณะ ขนาด และเครื่องอุปกรณ์ส่วนควบของรถถูกต้องตามที่กฎกระทรวง และตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 กำหนด ต้องมีกำลังมอเตอร์ไฟฟ้าและความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด
นอกจากนี้ ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าจะต้องดำเนินการขอรับรองแบบรถกับกรมการขนส่งทางบกก่อนดำเนินการจดทะเบียน เพื่อให้ส่วนควบและเครื่องอุปกรณ์ของรถยนต์และรถจักรยานยนต์เกิดความปลอดภัยในการใช้งาน และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล และเมื่อแบบรถที่ต้องการจดทะเบียนได้รับการรับรองและส่งบัญชีเรียบร้อยแล้ว จึงจะสามารถนำรถคันที่ต้องการจดทะเบียนเข้ารับการตรวจสภาพรถจากนายทะเบียน หรือจากสถานตรวจสภาพที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก โดยเจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบ หมายเลขระบบส่งกำลัง หมายเลขตัวถัง ลักษณะ ขนาด สัดส่วน ส่วนควบและเครื่องอุปกรณ์ ให้ถูกต้องครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด
ซึ่งปัจจุบัน (เดือนเมษายน 2565) มีรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจดทะเบียนสะสมแล้วทั้งสิ้น 15,474 คันดังนั้น รถไฟฟ้าที่จะจดทะเบียนได้ต้องเป็นไปตามกฎหมายที่กำหนด และได้รับการรับรองจากกรมการขนส่งทางบกก่อนจึงจะจดทะเบียนได้ ทั้งรถที่ใช้น้ำมันและไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันมีการนำเข้ารถเพื่อมาใช้งานในกิจการที่แตกต่างกันไป ก่อนตัดสินใจซื้อรถ จึงควรสอบถามผู้ขายก่อนว่าสามารถนำไปจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก เพื่อวิ่งใช้งานบนถนนสาธารณะได้หรือไม่
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และหากพบผู้ใดแอบอ้างอาสาดำเนินการด้านในอนุญาตขับรถ สามารถแจ้งเบาะแสมายังกรมการขนส่งทางบกได้โดยตรง หรือโทรสายด่วน 1584 ตลอด 24 ชั่วโมง และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม สามารถติดตามข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ www.dlt.go.th หรือโทร. 02 271 8888