xs
xsm
sm
md
lg

“หมอธีระ”เผยผลวิจัย Long COVID ในเด็ก มีอาการผิดปกติเกิดขึ้นได้กว่า 200 อาการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า 10 กันยายน 2565

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 450,763 คน ตายเพิ่ม 1,441 คน รวมแล้วติดไป 612,928,218 คน เสียชีวิตรวม 6,513,963 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญึ่ปุ่น เกาหลีใต้ รัสเซีย สหรัฐอเมริกา และไต้หวัน

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 81.63 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 60.23

สถานการณ์ระบาดของไทย จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 16 ของโลก และอันดับ 6 ของเอเชีย แม้ สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม

Long COVID ในเด็ก

วารสารระดับโลกอย่าง Science เผยแพร่บทความวิชาการที่ดีมากเรื่อง "COVID-19 and Children" เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา

โอกาสเกิดภาวะ Long COVID ในเด็กและเยาวชนนั้นมีการศึกษาจากทั่วโลก พบว่าเกิดได้ตั้งแต่ 1:4 ไปจนถึง 1:100 ขึ้นอยู่กับกลุ่มประชากร วิธีการศึกษา และคำจำกัดความที่ใช้

ข้อมูลจาก Office for National Statistics ของสหราชอาณาจักรนั้นชี้ให้เห็นว่ามีเด็กที่ประสบปัญหา Long COVID อยู่มากถึง 120,000 คน โดยที่ 26,000 คนนั้นมีอาการผิดปกติคงค้างมายาวนานมากกว่า 1 ปี

ทั้งนี้หนึ่งในสี่ของเด็กที่ประสบปัญหา Long COVID นั้นเป็นผู้ที่ติดเชื้อจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมาก่อน และราว 1 ใน 10 ของเด็กเหล่านี้ป่วยโดยมีความผิดปกติในหลายระบบของร่างกาย

จากผลการวิจัยเกี่ยวกับ Long COVID ในเด็กนั้น มีอาการผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้กว่า 200 อาการ และเกิดความผิดปกติได้ทุกอวัยวะในร่างกาย

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจากรายงานกรณีศึกษาของกลุ่มผู้ปกครองและผู้ป่วย ที่ประสบปัญหา Long COVID พบว่า ปัญหา Long COVID ในเด็กนั้นเกิดได้แม้จะเป็นการติดเชื้อโดยมีอาการน้อย/ไม่รุนแรง หรือติดเชื้อแบบไม่มีอาการก็ตาม

ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเด็กที่ประสบปัญหา Long COVID ก็มีแตกต่างกันไป โดยอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน บางส่วนอาจไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตปกติได้แบบในอดีต

อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาเชิงลึกในหลายด้าน ตั้งแต่เรื่องคำจำกัดความของภาวะ Long COVID, กลไกที่ทำให้เกิดความผิดปกติ รวมถึงวิธีในการจัดการดูแลรักษา และป้องกัน

แต่ที่แน่ๆ คือ การป้องกันไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด

ไม่ว่าเด็ก หรือผู้ใหญ่ หลักการพื้นฐานคือ ระมัดระวังในการใช้ชีวิต ใส่หน้ากาก ล้างมือ ลดละเลี่ยงสถานที่แออัด ถ่ายเทอากาศไม่ดี

สำหรับเด็กนั้น ในทางปฏิบัติอาจทำทุกอย่างครบถ้วนได้ค่อนข้างลำบาก ผู้ปกครองและคุณครูจึงควรช่วยเสริมด้วยการหมั่นสังเกตอาการไม่สบาย หากเด็กมีอาการผิดปกติก็ควรแยกไปรักษาให้หายเสียก่อน ก็จะลดโอกาสแพร่แก่คนอื่น ทั้งในบ้านและโรงเรียน นอกจากนี้คือการปรับสภาพแวดล้อมในห้องเรียน เปิดประตูหน้าต่าง เปิดพัดลม ระบายอากาศ ก็จะช่วยลดปริมาณเชื้อโรคที่ลอยคั่งค้างในอากาศไปได้ไม่น้อย

อ้างอิง
COVID-19 and Children. Science. 8 September 2022.