นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีไหว้ครูดนตรี ครั้งที่ 55 ประจำปี 2565 พร้อมเข้ารับการเจิมหน้า เพื่อเป็นสิริมงคลในชีวิต โดยมี คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ครูอาจารย์ นักศึกษา และนักเรียน ตลอดจนผู้เกี่ยวข้อง ร่วมพิธี ณ อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร โดยสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กำหนดจัดพิธีไหว้ครูดนตรี ครั้งที่ 55 ประจำปี 2565 เพื่อเป็นการระลึกและบูชาพระคุณของบรมครูดนตรีที่ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่ศิษย์ และเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ผู้เข้าร่วมพิธี กิจกรรมประกอบด้วย พิธีสงฆ์ โดยมี พระสงฆ์ 9 รูป เจริญพระพุทธมนต์ คณะผู้บริหารสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ถวายภัตตาหารเช้า จากนั้นจะเป็นพิธีไหว้ครูดนตรี โดยมี รศ.วิเชียร อ่อนละมูล รองหัวหน้าภาควิชาดนตรีศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม เป็นประธานผู้ประกอบพิธีไหว้ครู
สำหรับประวัติการไหว้ครูดนตรีไทย คำว่า "ครู" มาจากภาษาบาลี ว่า "ครุ" ที่แปลว่า หนัก หมายความว่าผู้มีความหนักแน่น ผู้สั่งสอน และผู้ควรแก่ศิษย์เคารพ ก่อนที่จะมีพิธีไหว้ครูที่มีพิธีกรรมเป็นขั้นตอนดังเช่นในปัจจุบัน พบว่ามีบทไหว้ครูปรากฏอยู่ในวรรณกรรมประเภทต่าง ๆ ได้แก่ บทเสภาไหว้ครูเรื่องขุนช้างขุนแผน บทไหว้ครูหนัง สมุทรโฆษคำฉันท์ กำสรวลศรีปราชญ์ ลิลิตยวนพ่าย ลิลิตพระลอ วรรณกรรมเหล่านี้ล้วนแต่มีคำไหว้ครูในบทนำทั้งสิ้น โดยจากบทเสภาไหว้ครูเรื่องขุนช้างขุนแผน มีการกล่าวถึงการไหว้ครูก่อนการแสดง ซึ่งทำให้เห็นถึงความสำคัญว่าก่อนการแสดงศิลปินจะต้องไหว้ครูก่อนทุกครั้ง
พิธีไหว้ครูดนตรีไทยในปัจจุบันนิยมจัดในวันพฤหัสบดี หรือหากไม่สะดวกก็มักจะจัดในวันอาทิตย์แทน โดยมีรูปแบบและขั้นตอนที่ชัดเจน มีองค์ประกอบสำคัญคือ มีผู้อ่านโองการนำไหว้ครู บทบูชาครู เครื่องสังเวยที่เป็นอาหารคาวทั้งสุกและดิบ และมีการกำหนดเพลงหน้าพาทย์บรรเลงตามคำกล่าวคำบูชาครู
ขั้นตอนพิธีไหว้ครู จะเริ่มต้นด้วยพิธีบูชาพระรัตนตรัย พิธีบวงสรวงอัญเชิญครูมาสู่ปริมณฑลพิธี ร่วมชุมนุมสโมสรอำนวยพร รับการถวายเครื่องกระยาสังเวย การเชิญครูกลับสู่ที่สถิต และพิธีของครูปัจจุบันกับศิษย์ มีการเจิม การครอบครูทางดนตรีด้วยวิธีใช้ฉิ่งครอบที่ศีรษะ จับมือตีตะโพนหรือตีฆ้องวงใหญ่ด้วยประโยคต้นของทำนองเพลง 3 ครั้ง ถือว่าได้เริ่มต้นเรียนเพลงหน้าพาทย์นั้น ๆ แล้ว
การจัดเตรียมสถานที่ประกอบพิธีไหว้ครู จะต้องเป็นสถานที่กว้างขวางเพียงพอสำหรับศิษยานุศิษย์และผู้ร่วมพิธี และกว้างพอสำหรับตั้งพระพุทธรูปพร้อมเครื่องบูชา แท่นบูชาศีรษะครู ภาพครู เครื่องดนตรี เครื่องสังเวย เครื่องบูชาครู ขันน้ำมนต์ โถแป้งกระแจะ เชิงเทียนพร้อมเทียนชัย เทียนเงิน เทียนทอง กระถางธูป พวงมาลัยคล้องศีรษะครูและเครื่องดนตรี ขันกำนลสำหรับประธานประกอบพิธี ขันใส่ข้าวตอกดอกไม้ ผ้าหน้าโขน (เท่ากับจำนวนเครื่องดนตรีที่นำเข้าพิธีไหว้ครู)