รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก ‘Thira Woratanarat’ ระบุ“อย่าออกนโยบายที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ
การชงลดวันกักตัวเป็น 5+5 นั้นไม่สอดคล้องกับหลักฐานวิชาการแพทย์ในปัจจุบัน
ดังที่เคยทราบจากงานวิจัยก่อนหน้านี้แล้วว่า หากแยกกักตัว 5 วัน โอกาสที่จะมีผู้ติดเชื้อที่ยังคงสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้นั้นสูงถึง 50%, 7 วัน 25%, และ 10 วัน 10%
เกิน 14 วันจึงจะปลอดภัย
ดังนั้นหากแยกตัวกักตัวน้อยกว่า 14 วันจึงมีความเสี่ยง และทางที่ควรพิจารณาทำในทางปฏิบัติโดยพยายามลดความเสี่ยงคือ การแยกตัวกักตัวอย่างน้อย 7-10 วัน โดยต้องแน่ใจว่าสุขภาพดีขึ้นจน "ไม่มีอาการป่วย และตรวจ ATK เป็นผลลบแล้ว" จึงค่อยออกมาใช้ชีวิตโดยป้องกันตัวอย่างเคร่งครัดและควรใส่หน้ากาก N95 หรือเทียบเท่า
ล่าสุดเมื่อวานนี้ ทีมวิจัยจาก Imperial College London สหราชอาณาจักร ได้เผยแพร่ผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับปริมาณไวรัสในผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 อย่างละเอียดมาก ถือเป็นหลักฐานวิชาการล่าสุดที่ตอกย้ำว่าแนวทาง 5+5 ไม่ใช่นโยบายที่ถูกต้อง
ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ระบบทางเดินหายใจ The Lancet Respiratory Medicine วันที่ 18 สิงหาคม 2565
สรุปสาระสำคัญคือ
หากนับจากวันที่ตรวจพบว่าติดเชื้อ
แยกกักตัว 5 วัน มีโอกาสหลุด 75%
แยกกักตัว 7 วัน มีโอกาสหลุด 35%
แยกกักตัว 10 วัน มีโอกาสหลุด 10%
และหากนับจากวันแรกที่เริ่มมีอาการป่วย
แยกกักตัว 5 วัน มีโอกาสหลุด 67%
แยกกักตัว 7 วัน มีโอกาสหลุด 30%
แยกกักตัว 10 วัน มีโอกาสหลุด 10%
ด้วยชุดข้อมูลความรู้ทางการแพทย์ปัจจุบัน ชี้ชัดว่า 5+5 ไม่ใช่นโยบายที่ควรทำ
ปัจจุบันการใช้ชีวิต ทำมาหากิน ศึกษาเล่าเรียน และระบบเศรษฐกิจนั้นพอขับเคลื่อนไปได้ แต่ต้องยอมรับความจริงว่าการระบาดในประเทศนั้นมีจำนวนมาก คนจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการดูแลรักษามาตรฐานสากลได้ และจำนวนคนเสียชีวิตของไทยก็ยังติดอันดับต้นๆ ของเอเชียและของโลก
นโยบายและมาตรการที่ควรทำคือ การกระตุ้นเตือนให้ประชาชนตระหนักรู้ถึงสถานการณ์จริง ใช้ชีวิตอย่างมีสติ และป้องกันตัวอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ
อย่าเข็นนโยบายที่อาจทำให้สถานการณ์ระบาดยืดเยื้อยาวนานกว่าที่ควร หรือรุนแรงมากกว่านี้เลยครับ
ทุกชีวิตมีค่า
สำหรับประชาชนรวมถึงนายจ้างลูกจ้าง ควรนำความรู้ไปประยุกต์ใช้สำหรับตนเอง ครอบครัว และกิจการของตนเองตามความเหมาะสม
อ้างอิง
Hakki S et al. Onset and window of SARS-CoV-2 infectiousness and temporal correlation with symptom onset: a prospective, longitudinal, community cohort study. The Lancet Respiratory Medicine. 18 August 2022.”
https://www.facebook.com/100044308452347/posts/653427582810851/?d=n