xs
xsm
sm
md
lg

"ในหลวง" ทรงรับ 140 โครงการ พระราชดำริ "สร้างสุขชีวิตปวงประชาร่มเย็นภายใต้ร่มพระบารมี"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

พระบาทสมเด็จพะเจ้าอยู่หัว ทรงทราบด้วยพระเนตรพระกรรณถึงปัญหาความทุกข์ยากของราษฎรมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ จากการติดตามเสด็จ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ไปเยี่ยมเยียนพสกนิกรทุกภูมิภาคของประเทศไทย ทรงพระวิริยะอุตสาหะ เอาพระราชหฤทัยใส่ในการเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาท สมเด็จพระบรมราชบุพการี ด้วยทรงตระหนักถึงพระราชภาระอันสำคัญที่รอคอยอยู่ในภายภาคหน้า
"เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป" พระปฐมบรมราชโองการของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 สะท้อนถึงพระราชปณิธานอันแน่วแน่ในการทรงงานเพื่อจะสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระบรมชนกนาถ และสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยน้ำพระราชหฤทัยอันเปี่ยมล้นด้วยพระเมตตาต่อประชาชนทุกหมู่เหล่า โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่แล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างดำเนินการล้วนได้รับการสืบสานรักษา และต่อยอดอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน

พระองค์ทรงตระหนักในคุณค่าของแนวพระราชดำริเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ทรงยึดมั่นในพระราชดำริต่าง ๆ ที่สมเด็จพระบรมชนกนาถพระราชทานไว้เป็นแสงสว่างนำทางตามรอยพระราชปณิธานนำความผาสุกไปสู่ประชาชนและประเทศชาติสืบไป โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จึงครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำ การพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกร การสาธารณสุข การศึกษา การรักษาทรัพยากรธรรมชาติ อันนำไปสู่ความมั่นคงของชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ ที่ทรงให้ความสำคัญกับ “น้ำ” ปัจจัยหลักในการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพของราษฎร นับตั้งแต่ทรงมีพระราชดำรัสตอบรับขึ้นทรงราชย์ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2559 พระองค์พระราชทานพระราชดำริให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องดำเนินโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2559 - 30 มิถุนายน 2565 จำนวน 140 โครงการ เป็น โครงการที่พระราชทานพระราชดำริโดยตรง จำนวน 39 โครงการ แบ่งเป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในเขตพื้นที่จังหวัดสกลนครจำนวน 23 โครงการ โครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 15 โครงการ และโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันโรงเรียนบ้านเด่นชาติ อำเภอบ้านโคก จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งทั้ง 39 โครงการนี้ ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว และโครงการที่เกิดจากราษฎรขอพระราชทานความช่วยเหลือ (ฎีกา) ซึ่งทรงรับเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริแล้ว จำนวน 101 โครงการ ซึ่งโครงการทั้ง 140 โครงการ กระจายอยู่ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ โดยอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ 52 โครงการ ภาคกลาง 18 โครงการ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 53 โครงการ ภาคใต้ 17 โครงการ
เพื่อให้การดำเนินโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริบรรลุเป้าหมายตามความต้องการของราษฎร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยมีนายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี เป็นประธานกรรมการ และมีรองประธานกรรมการประกอบด้วย พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี นายอำพน กิตติอำพน องคมนตรี พลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท องคมนตรี และพลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี และมีผู้แทนส่วนงานที่ร่วมสนองพระราชดำริ เป็นคณะอนุกรรมการฯ ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการแบบบูรณาการ พร้อมทั้งแบ่งหน้าที่ทำงานครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ โดยมีเลขาธิการ กปร. เป็นกรรมการและเลขานุการ ทำให้การดำเนินงานของโครงการฯ เป็นไปตามเป้าหมายอย่างต่อเนื่องยังผลประโยชน์แก่ราษฎรอย่างทั่วถ้วน

นายประมวล ทิพย์วิเศษ เกษตรกร จังหวัดสุราษฎร์ธานี ผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการฝายคลองท่ากระจายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านชายท่า ต.คลองพา อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี และเป็นผู้บริจาคที่ดินเพื่อสาธารณประโยชน์สำหรับการก่อสร้างฝายคลองท่ากระจายฯ เผยว่า รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้บริจาคที่ดินเพื่อก่อสร้างฝายฯ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปัจจุบันการก่อสร้างแล้วเสร็จ ทำให้ราษฎรหมู่ที่ 1 ตำบลคลองพา และหมู่ที่ 2 ตำบลสมอทอง มีน้ำใช้อย่างทั่วถึงมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

“ในโอกาสนี้กระผมต้องขอขอบพระคุณพระองค์ท่านที่ได้พระราชทานฝายคลองท่ากระจายอันเนื่องมาจากพระราชดำริให้ราษฎรได้ใช้อุปโภคบริโภคอย่างสมบูรณ์ ซึ่งในอดีตคลองท่ากระจายเมื่อถึงหน้าแล้งจะขาดแคลนน้ำ มีน้ำไม่พอใช้กับชุมชน แต่เมื่อได้ฝายฯ มาแล้ว ทำให้น้ำมีมากขึ้น ชาวบ้านได้ใช้อย่างเพียงพอ และสะดวกมากขึ้น” นายประมวล กล่าว

ด้านนายวีระ จันทวังโส ผู้ใหญ่บ้าน หมู่บ้านไทรนอง ต.สองพี่น้อง อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี กล่าวว่า ในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรทำสวนผลไม้ ที่ผ่านมาพบกับภาวะแห้งแล้ง น้ำไม่พอเพราะไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำในพื้นที่ จึงได้ฎีกาขอพระราชทานความช่วยเหลือ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

“โครงการฯ ก่อเกิดประโยชน์อย่างสูงสุดมีแหล่งกักเก็บน้ำ หลังทำนบใช้เป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งผลผลิตทางการเกษตรออกตลาดไม่ต้องลงหุบเขา เส้นทางชันลำบากเหมือนที่ผ่านมา โครงการนี้ได้ประโยชน์ทั้งสองอย่างถือว่าคุ้ม ประชาชนในหมู่บ้านต่างซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ที่ทรงเมตตากรุณาเห็นความเดือดร้อนของประชาราษฎร์ และถือว่าเป็นเกียรติของหมู่บ้านอันสูงสุด” นายวีระ จันทวังโส กล่าว

ทั้งนี้ จากการติดตามและขับเคลื่อนโครงการของคณะอนุกรรมการฯ ทั้งในระดับนโยบายและระดับพื้นที่ ทั้ง 4 ภาค สามารถขับเคลื่อนโครงการฯ ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจาก กปร. ได้อย่างต่อเนื่องและแม้ในช่วงที่เกิดภาวะวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทั่วโลก การสนองงานของคณะอนุกรรมการฯ ก็ไม่ได้หยุดนิ่งยังคงเดินหน้าดำเนินงานให้โครงการต่าง ๆ บรรลุผลตามเป้าหมายเพื่อให้ราษฎรได้รับประโยชน์อย่างสูงสุด ขณะเดียวกันศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้ง 6 แห่ง ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ก็ยังคงดำเนินกิจกรรมเพื่อให้การช่วยเหลือตามสภาพการณ์ ทั้งการฝึกอบรมผ่านโซเชียลมีเดีย ไปจนถึงการแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์พืชเพื่อการบริโภคให้แก่ราษฎรนำไปเพาะปลูกเป็นพืชอาหารสำหรับบริโภคในช่วงการระบาดของโรค ยังผลให้ราษฎรมีกินมีใช้อย่างไม่ขาดแคลน

นอกจากนี้ ยังทรงรับสั่งถึงแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่รับสั่งไว้หลายประการนั้น ขอให้นำมาทบทวนปฏิบัติ อย่างทันต่อสถานการณ์ นับเป็นพระราชกรณียกิจที่พระองค์พระราชทานความช่วยเหลือเพื่อให้ราษฎรได้หลุดพ้นจากความทุกข์ยาก ตลอดจนการปฏิบัติงานถวายด้วยหัวใจและความพร้อมเพรียงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้สร้างประโยชน์ให้แก่ราษฎรตามพระราชประสงค์เป็นที่ประจักษ์อย่างกว้างขวางในขณะนี้ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ขอพระองค์ทรงพระเจริญ