xs
xsm
sm
md
lg

นักดาราศาสตร์ไทยร่วมค้นพบสัญญาณคาดมาจากดาวเคราะห์ใหม่ในระบบ HAT-P-37b

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เพจสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ระบุว่า นักวิจัย NARIT และนักวิจัย National Tsing Hua University ประเทศไต้หวัน ร่วมกับเครือข่ายนักดาราศาสตร์นานาชาติ ใช้กล้องโทรทรรศน์อัตโนมัติขนาด 0.7 เมตร ของ สดร. ณ หอดูดาว Sierra Remote สหรัฐอเมริกา และกล้องโทรทรรศน์ในเครือข่ายทั่วโลก ศึกษาการผ่านหน้าดาวเคราะห์แก๊สยักษ์คล้ายดาวพฤหัสบดี (HAT-P-37b) กว่า 7 ปี จนพบสัญญาณที่คาดว่ามาจากดาวเคราะห์ใหม่ในระบบดังกล่าว และยังพบว่าชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ HAT-P-37b มีเมฆหนาทำให้แสงไม่สามารถส่องผ่านมาได้

ดาวเคราะห์ HAT-P-37b เป็นดาวเคราะห์แก๊สยักษ์คล้ายดาวพฤหัสบดี มีมวล 1.1 เท่า และ รัศมี 1.1 เท่าของดาวพฤหัสบดี เป็นดาวเคราะห์ที่มีคาบสั้นเพียง 2.8 วัน คาดการณ์ว่าบริเวณผิวของเคราะห์นี้มีอุณหภูมิสูงถึง 1,200 เคลวิน

นักดาราศาสตร์ส่วนใหญ่ศึกษาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ โดยอาศัยวิธีการผ่านหน้า (Transit method) คือวัดแสงที่ลดลงของดาวฤกษ์แม่เมื่อมีดาวเคราะห์ผ่านหน้า จากการศึกษาสัญญาณการผ่านหน้าของดาวเคราะห์ HAT-P-37b ระหว่างปี พ.ศ. 2557- 2564 พบว่า เวลาที่เกิดปรากฏการณ์การผ่านหน้ามีการเปลี่ยนแปลง อาจเกิดจากวัตถุอื่นที่ยังไม่ถูกค้นพบในระบบดังกล่าว สัญญาณการเปลี่ยนแปลงเวลาการผ่านหน้ามีขนาดประมาณ 1.74 นาที ด้วยคาบโคจรประมาณ 3.3 ปี ถ้าวัตถุดังกล่าวมีคาบการโคจร 2 เท่าของคาบของดาวเคราะห์ HAT-P-37b วัตถุดังกล่าวอาจเป็นดาวเคราะห์ขนาดเล็ก มวลประมาณ 0.06 เท่าของมวลโลก อย่างไรก็ตามการยืนยันการมีอยู่ของดาวเคราะห์ดังกล่าว ยังคงต้องอาศัยข้อมูลการสังเกตการณ์เพิ่มเติมในอนาคต

นอกจากนี้ ยังศึกษาชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ดังกล่าวด้วยเทคนิคสเปกตรัมส่องผ่าน (Transmission spectrum) พบว่ามีเมฆหนาทำให้แสงไม่สามารถส่องผ่านมาได้ ปัจจุบันการศึกษาวิจัยชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ยังมีจำนวนไม่ถึง 100 ดวง การค้นพบดังกล่าวทำให้นักดาราศาสตร์เข้าใจการเกิดชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะมากขึ้น

การวิจัยนี้ใช้เครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ขนาดกลางถึงเล็กทั่วโลก รวมถึงกล้องโทรทรรศน์อัตโนมัติของ สดร. ขนาด 0.7 เมตร ณ หอดูดาว Sierra Remote สหรัฐอเมริกา (https://www.narit.or.th/index.php/telescope/trt) ร่วมศึกษา แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของกล้องโทรทรรศน์ดังกล่าวในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ และร่วมทำงานเป็นเครือข่ายวิจัยระดับนานาชาติได้ การใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดกลางถึงเล็กแม้จะมีศักยภาพการทำงานไม่เท่ากล้องขนาดใหญ่ แต่ด้วยจำนวนที่มีมากกว่าและกระจายอยู่ทั่วโลก ทำให้นักดาราศาสตร์สามารถเข้าถึงการใช้งานได้ง่าย ซึ่งจะช่วยให้เกิดการค้นพบองค์ความรู้ใหม่ๆ ทางดาราศาสตร์ได้เพิ่มมากขึ้นในอนาคต