นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร พร้อมด้วยนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร แถลงข่าวการจับกุมกัญชา-กัญชง จำนวน 5.3 กิโลกรัม ผ่านผู้ขนส่งสินค้าเร่งด่วนทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อสังคมออนไลน์เกี่ยวกับการนำเข้ากัญชา-กัญชง กรมศุลกากรเฝ้าติดตามผ่านระบบบริหารความเสี่ยง และตรวจพบใบขนสินค้าขาเข้าเร่งด่วน ระบุชื่อผู้นำเข้าเป็นนักธุรกิจชื่อดังคนหนึ่ง โดยไม่ระบุชื่อสินค้า ผ่านบริษัทขนส่งสินค้าเร่งด่วนทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จึงอายัดสินค้าดังกล่าว เมื่อเปิดตรวจพบว่าสินค้ามีลักษณะคล้ายช่อดอกกัญชา-กัญชง ซึ่งเป็นของต้องกำกัด และต้องมีใบอนุญาตนำเข้าจากกรมวิชาการเกษตรมาแสดงก่อนผ่านพิธีการศุลกากร อันเป็นความผิดฐานแสดงข้อมูลสินค้าไม่ถูกต้อง เพื่อหลีกเลี่ยงข้อกำกัด เป็นความผิดตามมาตรา 244 แห่ง พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 ประกอบพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ.2507 ทั้งนี้ เมื่อได้ตรวจสอบย้อนหลังแล้วพบว่ามีการนำเข้าลักษณะคล้ายกันนี้มาแล้ว 2 ครั้ง จึงแจ้งความดำเนินคดี เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
นายพชร เปิดเผยเพิ่มเติมกรณีนักธุรกิจคนดังกล่าวอัดคลิปการนำเข้าช่อดอกกัญชาจากสหรัฐฯ เข้าไทย และบอกว่าสามารถสั่งซื้อ พร้อมแสดงเอกสารการส่งสินค้าเข้ามาในไทย ว่า เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรประจำท่าอากาศสุวรรณภูมิตรวจพบสินค้า ผู้นำเข้าคือนักธุรกิจคนดังกล่าว ซึ่งสำแดงว่าเป็นสินค้าเหล็ก แต่จากการตรวจสอบกลับพบว่าภายในเป็นกัญชา เข้าข่ายเป็นความผิดต่อกฎหมาย 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.กักพืช และ พ.ร.บ.ศุลกากร จึงหารือกับทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว เห็นว่าควรพิจารณาดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ศุลกากร ฐานสำแดงเท็จ ซึ่งมีอัตราโทษสูงสุดคือจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงให้ตัวแทนกรมศุลกากรเข้าแจ้งความและประสานให้ สภ.สุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในพื้นที่เกิดเหตุ พิจารณาออกหมายเรียกนักธุรกิจคนดังกล่าวมารับทราบข้อกล่าวหาภายในวันนี้ โดยขอให้ตำรวจดำเนินคดีทั้งตัวนักธุรกิจในฐานะที่เป็นผู้สั่งซื้อ และดำเนินคดีกับบริษัทนำส่งสินค้า ที่ทราบว่ามีต้นทางมาจากสหรัฐอเมริกา ส่วนที่ว่าเจ้าตัวจะให้การอย่างไร ก็ให้เป็นเรื่องการพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามกระบวนการยุติธรรม
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบข้อมูลย้อนหลัง พบว่านักธุรกิจคนดังกล่าวเคยสั่งซื้อสินค้าให้นำเข้าโดยการสำแดงเท็จมาแล้ว 3 ครั้ง โดย 2 ครั้งแรก พบว่าสินค้าที่สำแดงกับด่านศุลกากร แจ้งว่าเป็นของตกแต่งคริสต์มาส และพื้นยาง ก่อนที่ครั้งที่ 3 จะสำแดงเป็นสินค้าเหล็ก ซึ่งครั้งนี้มีพยานหลักฐานค่อนข้างชัดเจน สามารถเอาผิดได้ ส่วนใน 2 ครั้งแรก จะส่งข้อมูลให้พนักงานสอบสวนไปพิจารณานำสืบ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป