นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงมหาดไทย โดยผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ ได้ลงนามประกาศเจตนารมณ์เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน (Statement of Commitment to Sustainable Thailand) ร่วมกับผู้ประสานงานองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ที่ผ่านมา เพื่อให้ทุกจังหวัดเป็นแนวหน้าและเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ทั้ง 17 ข้อ ร่วมกับทีมงานของยูเอ็น และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ทั้งในท้องถิ่นและชุมชน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อน อันนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง จึงได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานกรรมการศึกษาธิการจังหวัด และฐานะนายกฯ ของจังหวัดที่เป็นผู้นำของจังหวัด บูรณาการหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ สถานศึกษาทุกแห่ง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ จัดหาพื้นที่สาธารณะต่างๆ เช่น วัด โรงเรียน ป่าชุมชน สวนสาธารณะ ป่าชายเลน หรือสถานที่ที่เห็นว่าเหมาะสม เพื่อจัดกิจกรรม "ปลูกต้นไม้คู่ชีวิต" ของนักเรียนทุกคน ในทุกโรงเรียน ตามนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ของรัฐบาล ด้วยการส่งเสริมให้นักเรียนปลูกต้นไม้ในพื้นที่นั้นๆ อย่างน้อยคนละ 1 ต้น ตลอดระยะเวลาที่ศึกษาอยู่ในโรงเรียนทั้ง 3 ปี หรือ 6 ปี และช่วยกันจัดทำ QR Code เพื่อสแกนค้นหาว่าต้นไม้นั้นคือต้นอะไร มีคุณค่า มีประโยชน์อย่างไร สอดคล้องกับโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
โดยในปีแรกให้ผู้ว่าราชการจังหวัดบูรณาการหน่วยงานในพื้นที่จัดหาพันธุ์กล้าไม้ให้กับนักเรียนทุกคนเพื่อใช้ปลูกก่อน พร้อมทั้งส่งเสริมให้นักเรียนรู้จักการดูแล การเพาะพันธุ์ การเก็บเมล็ดพันธุ์ต้นไม้ เพื่อใช้ปลูกขยายพันธุ์ในปีต่อๆ ไป รวมทั้งรณรงค์ให้ทุกครัวเรือนที่มีสมาชิกในบ้านในครอบครัวช่วยกันเก็บเมล็ดพันธุ์ ช่วยกันเพาะชำ ปลูกต้นไม้ในบริเวณบ้าน หรือที่พักอาศัย หรือนำพันธุ์ไม้จากที่บ้านไปปลูกในพื้นที่สาธารณะที่จัดไว้ หรือบางครอบครัวที่มีความสามารถในกล้าเพาะพันธุ์กล้าไม้ ก็สามารถนำมาแจกจ่ายให้ผู้สนใจ นำไปปลูกหรือจำหน่ายสร้างรายได้ให้กับครอบครัว