xs
xsm
sm
md
lg

กรมวิทย์ฯ เปิดตัวชุดตรวจกัญชา 'Test Kann" เตรียมผลิตแจก 15,000 ชุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงเปิดตัวชุดตรวจกัญชา "Test Kann เทส กัญ" ภายในงานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ครั้งที่ 30 ว่า แม้จะปลดล็อกทุกส่วนของกัญชา กัญชงออกจากยาเสพติด แต่ยังยกเว้นสารสกัด THC เกิน 0.2% กรมฯ ได้พัฒนาชุดตรวจพิสูจน์ "เทส กัญ" นำไปใช้ทดสอบสาร THC ในน้ำมันกัญชา เป็นอุปกรณ์คล้าย ATK ที่ตรวจโควิด-19 มีตลับทดสอบ 1 อัน กับหลอดบรรจุสารสกัดที่ 1 และหลอดสารสกัดที่ 2 วิธีใช้โดยนำน้ำมันกัญชาหยดใส่หลอดที่ 1 เขย่าให้เข้ากัน แล้วนำไปผสมกับหลอดที่ 2 เขย่าให้เข้ากัน ก่อนนำไปหยดใส่ในตลับ รอผลภายใน 15 นาที ถ้าขึ้นแถบสีม่วงแดง 2 ขีด ที่ตำแหน่ง C และ T แสดงว่า มี THC ไม่เกิน 0.2% แต่ถ้าขึ้นแถบสีม่วงแดง 1 ขีด ที่ตัว C แสดงว่า มี THC เกิน 0.2% อย่างไรก็ตาม ผลจากชุดตรวจไม่สามารถนำไปดำเนินคดีทางกฎหมายได้ ต้องส่งยืนยันผลทางห้องปฏิบัติการอีกครั้ง

ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้เตรียมผลิตชุด "เทส กัญ" จำนวน 15,000 ชุด ไว้เพื่อแจก และจะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้บริษัทเอกชนที่สนใจนำไปผลิตเพื่อจำหน่ายต่อไป มีต้นทุนชุดละ 100 บาท ส่วนการตรวจหาสารสกัดกัญชาในอาหารและเครื่องดื่มนั้น จะพัฒนาในขั้นต่อไป ขณะนี้กำลังทดสอบในระดับห้องปฏิบัติการ ค่าใช้จ่ายครั้งละ 5,000 บาท รวมทั้งการตรวจหากัญชาในตัวคนนั้น จะร่วมมือกับโรงพยาบาลขนาดใหญ่เก็บตัวอย่างเลือดผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากกัญชามาทดสอบหาปริมาณสาร THC เพื่อเป็นข้อมูลใช้ในการรักษาต่อไป โดยศูนย์วิทยาศาสตร์ฯ ทั่วประเทศ 15 ศูนย์ ใช้ต้นทุนในการทดสอบ 1,400 บาท ต่อ 1 ตัวอย่าง และต้องนำเสนอเป็นโครงการวิจัย ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการจริยธรรมทางการแพทย์ เพราะเป็นการวิจัยในคน

ขณะที่นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า หลังปลดล็อกกัญชาเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน เป็นต้นมา มีผู้ป่วยเข้าห้องฉุกเฉินจากการใช้กัญชาไม่ถูกต้องหรือไม่ถูกขนาด จากโรงพยาบาลนพรัตน์ โรงพยาบาลเลิดสิน และ โรงพยาบาลราชวิถี รวม 9 คน อาการที่พบมากมีผลต่อ 3 ระบบในร่างกาย คือ 1. ระบบหลอดเลือดและหัวใจ หลอดเลือดสมอง หัวใจเต้นเร็ว ความดันขึ้นๆ ลงๆ ชีพจรเต้นไม่เป็นจังหวะ 2. ระบบประสาท วิงเวียน มึน และ 3. พบประปรายในระบบทางเดินอาหาร คลื่นไส้อาเจียน แต่กลุ่มใช้ทางการแพทย์ที่ถูกต้องยังไม่พบปัญหา ส่วนใหญ่จะพบในกลุ่มที่สนใจทดลอง ทั้งอาหาร และสันทนาการ อีกส่วนเกิดจากการบริโภคโดยไม่รู้ตัว เช่น ผสมส้มตำ หน่อไม้ กาแฟ คุกกี้ เป็นต้น

ดังนั้น ขอให้ระมัดระวัง โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี หญิงตั้งครรภ์ หรือสงสัยว่าตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ผู้มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะกลุ่มโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง โรคระบบประสาท และผู้ป่วยจิตเวช หรือครอบครัวที่มีประวัติป่วยจิตเวช ผู้ขับขี่ยานพาหนะทุกประเภท ผู้ทำงานกับเครื่องจักร ร้านค้าต้องติดป้ายแจ้งลูกค้าถึงส่วนผสมของเมนูกัญชา

สำหรับอาการไม่พึงประสงค์จากกัญชา สังเกตเบื้องต้นได้ คือ หายใจและชีพจรเต้นผิดปกติ หากเริ่มไม่รู้สึกตัว ผู้ใกล้ชิดต้องเรียกรถฉุกเฉินทันที ที่สำคัญ ต้องให้ข้อมูลที่เป็นจริงกับแพทย์ ไม่ต้องกังวลเรื่องกฎหมาย จะได้รักษาได้ทันท่วงที