นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะโฆษกคณะกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์การใช้กัญชาอย่างเข้าใจ กระทรวงสาธารณสุข โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า สรุป เป็นข่าวเท็จเรื่องเสียชีวิตเพราะ “กัญชา”!?
กรณีที่สำนักข่าว PPTV ได้รายงานข่าวเรื่องการเสียชีวิต-ป่วยจากการใช้กัญชาความว่า
“นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร เปิดเผยกับทีมข่าวพีพีทีวีเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2565 ว่า ชายอายุ 51 ปี ที่เข้าห้องฉุกเฉินด้วยอาการแน่นหน้าอก ก่อนจะเสียชีวิต โดยจากการซักประวัติพบว่า ชายคนดังกล่าว ก่อนจะมาห้องฉุกเฉินได้มวนกัญชาสูบ 1 มวน ซึ่งการสูบ ถือว่า เป็นการสูบครั้งแรก แต่ไม่สามารถบอกได้ว่า กัญชาเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดอาการหรือไม่ โดยใบมรณบัตรแพทย์ก็ลงความเห็นว่า เสียชีวิตจากหัวใจล้มเหลว
อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบผลเลือดของชายคนดังกล่าว ก็ไม่พบมีสาร THC หรือสารที่มีส่วนประกอบจากกัญชาอยู่ด้วย ญาติไม่ได้ติดใจสาเหตุการเสียชีวิต ไม่ได้ส่งศพไปผ่าชันสูตร และนำไปประกอบพิธีทางศาสนาเสร็จสิ้นแล้ว
ส่วน ผู้ป่วย 2 คนแรก ส่งตัวมาที่ รพ.ตากสิน เป็นชาย 17 และ 25 ปี ญาติ ให้ข้อมูลว่าเสพกัญชา หลังจากนั้นมีอาการใจสั่น เมื่อมาถึงโรงพยาบาลแพทย์ได้รักษาตามอาการ เมื่ออาการดีขึ้นก็ให้กลับบ้าน
ขณะที่อีกคน อายุ 16 ปี 6 เดือน มารักษาที่ โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินธโรอุทิศ ญาติให้ข้อมูลว่า เสพกัญชาร่วมกับยาเสพติดชนิดอื่น มีอาการหายใจอ่อนแรง แพทย์จึงใช้เครื่องช่วยหายใจในการรักษา อาการยังโคม่า อยู่ในห้องไอซียู ตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน
สรุป ทั้ง 4 คนนี้ ไม่สามารถบอกได้ว่า เสพกัญชาเกินขนาด เพราะมีข้อมูลแค่เสพมาเท่านั้น ไม่รู้ว่าเสพไปปริมาณมากน้อยขนาดไหน ญาติก็ไม่สามารถ บอกได้”
ดูลิงค์ https://www.pptvhd36.com/news/สังคม/174342
จากกรณีดังกล่าวข้างต้นแสดงให้ว่ามีขบวนการปั่นกระแสข่าวเกินจริงอย่างต่อเนื่อง โดยมีข้อสังเกตดังต่อไปนี้
1.การเสียชีวิตโดยอ้างและเดาว่าการเสียชีวิตของชายวัย 51 ปี เกิดเพราะการสูบกัญชา 1 มวน จากการซักประวัติ (จากใครไม่ชัดเจน) แต่กลับ “ไม่พบสาร THC ในเลือด” ดังนั้นการสรุปว่าการเสียชีวิตเกิดขึ้นเพราะกัญชา จนประโคมข่าวที่ผ่านมานั้นน่าจะเป็นเรื่องเท็จ
2. ส่วนข้ออ้างของผู้ที่ใช้ยาเสพติดอย่างอื่นแล้วใช้กัญชา หรือเสพยาอย่างอื่นโดยไม่ใช้กัญชา อาจฉวยโอกาสให้ข้อมูลว่าใช้กัญชาอย่างเดียว เพื่อปกป้องตัวเองจากคดีเสพยาเสพติดเท่านั้น ดังนั้นเพื่อให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องจึงต้องมีการตรวจวินิจฉัยทางแพทย์มีผลแลปที่เป็นวิทยาศาสตร์เท่านั้น ไม่ใช่การตั้งท่าจะดีสเครดิตแต่กัญชาแต่เพียงอย่างเดียว
3.แม้จะเป็นเรื่องที่ควรสนับสนุนว่าไม่ควรใช้กัญชาในโรงเรียน แต่ในความเป็นจริงแล้วเหล้าและบุหรี่ซึ่งก็ไม่ได้เป็นยาเสพติดแต่ติดมากกว่ากัญชา แต่จะมีโรงเรียนที่ไหนจะปล่อยให้เหล้าและบุหรี่ หรือกัญชามาใช้หรือนำเข้าในโรงเรียนบ้างโดยอ้างว่าเพราะไม่ใช่ยาเสพติด และก็เป็นเช่นนี้มาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้วโดยไม่ต้องมีการประกาศเพิ่มเติมอะไรเลย การขยายผลเลือกปล่อยข่าวต่อกัญชาแต่เพียงเรื่องเดียวจึงดูจะเป็นดราม่าเกินกว่าบุหรี่และเหล้าไปอย่างมาก
เพื่อความถูกต้องในเรื่องกัญชา กระทรวงสาธารณสุขจึงควรเป็นเจ้าภาพในการรวบรวมผู้ที่ได้ประโยชน์จำนวนมาก และผลข้างเคียงอย่างรอบด้าน ไม่ใช่ให้แพทย์แผนปัจจุบันผู้ต่อต้านหรือมีอคติการใช้กัญชามารวบรวมข้อมูลแต่อาการไม่พึงประสงค์อย่างเดียว เราจึงจะได้การประมวลผลและการจัดการที่ถูกต้องเรื่องกัญชาต่อไป