xs
xsm
sm
md
lg

“กรมพระศรีสวางควัฒน”เสด็จฯ หน่วยแพทย์พระราชทาน และหน่วยสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ในพื้นที่ภาคเหนือ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ด้วยพระวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลในการวางรากฐานของการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ทรงตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญของการดูแลรักษาสุขภาพอนามัย เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนชาวไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยทรงเน้นย้ำเสมอว่า “การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนจะบรรลุผลได้...ก็ต่อเมื่อประชาชนมีสุขภาพอนามัยที่ดี” อีกทั้งยังมีพระเมตตาไปถึงสุขภาพของสัตว์เลี้ยง และสัตว์ไร้ที่พึ่งให้ปลอดจากโรคติดต่อร้ายแรงที่มีอันตรายถึงแก่ชีวิตมาสู่คนได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดให้ออกหน่วยแพทย์พระราชทาน โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และออกหน่วยสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ในพื้นที่ภาคเหนือ ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2554 ระหว่างวันที่ 11 - 13 มิถุนายน 2565

สำหรับการออกหน่วยแพทย์พระราชทานในครั้งนี้ โปรดให้โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ โรงพยาบาลสารภี โรงพยาบาลแม่ออน และหน่วยงานราชการต่างๆ ในพื้นที่ร่วมออกหน่วยให้บริการตรวจรักษาพยาบาล พร้อมให้คำแนะนำในการป้องกันโรค และดูแลสุขภาพทั่วไปแก่ประชาชนที่มารับบริการเป็นจำนวนมาก โดยมีขั้นตอนการเข้ามาตรวจรักษา เริ่มตั้งแต่ การลงทะเบียน ซักประวัติ คัดกรองผู้ป่วย ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดความดันโลหิต การวินิจฉัยโรค และการจ่ายยาตามอาการของโรค โดยตลอดทั้ง 3 วันนี้มีประชาชนเดินทางเข้ามาขอรับบริการตรวจรักษาโรคทั่วไป รวม 158 คน ปัญหาสุขภาพส่วนใหญ่ที่พบ อาทิ โรคกล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ โรคระบบประสาท โรคระบบทางเดินหายใจ เป็นต้น

จากนั้น ทรงพระดำเนินไปตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของหน่วยสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ พร้อมกับทรงงานร่วมกับทีมสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ ที่บูรณาการความร่วมมือระหว่างคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โรงพยาบาลสัตว์ทิพย์พิมาน ร่วมกับสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ โดยทรงผ่าตัดทำหมันสุนัขร่วมกับทีมสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ภายในรถผ่าตัดทำหมันเคลื่อนที่ของโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า ทั้งนี้ ทรงติดตามเฝ้าระวังสัญญาณชีพของสุนัขแต่ละตัวอย่างใกล้ชิด ผ่านจอมอนิเตอร์ที่แสดงผลอัตราการเต้นของหัวใจ อัตราการหายใจ ความดันโลหิต รวมถึงอุณหภูมิของร่างกาย เพื่อทรงประเมินความปลอดภัยของสุนัขระหว่างดำเนินการผ่าตัด ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

ทั้งนี้ สำหรับการดำเนินกิจกรรมออกหน่วยสัตวแพทย์พระราชทานเคลื่อนที่ยังได้รับการสนับสนุนจากทีมสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ในส่วนของท้องถิ่น ได้แก่ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานปศุสัตว์เขต 5 คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เทศบาลนครเชียงใหม่ และส่วนราชการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องของจังหวัด ต่างพร้อมใจกันปฏิบัติงานสร้างพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า สนองพระปณิธานในการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศไทยอย่างยั่งยืน โดยผ่านการดำเนินกิจกรรมสัญจรอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งการจัดกิจกรรมอบรมเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้าแก่ ประชาชนเจ้าของสัตว์เลี้ยง เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจรวมถึงวิธีป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างถูกต้อง อีกทั้งยังให้บริการตรวจรักษา การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ รวมถึงการผ่าตัดทำหมันสุนัขและแมว เพื่อคุมกำเนิดประชากรของสัตว์เลี้ยง สัตว์จรจัด และเป็นการควบคุมการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

ทั้งนี้ ตลอดทั้ง 3 วัน มีประชาชนในพื้นที่และจังหวัดข้างเคียงนำสุนัขและแมวไปรับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ารวมจำนวน 291 ตัว และมีการผ่าตัดทำหมันให้กับสุนัขและแมว รวมจำนวนทั้งสิ้น 449 ตัว

นับเป็นพระกรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่ทรงมุ่งมั่นในการรณรงค์ส่งเสริมการพัฒนาด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศอันเป็นหัวใจหลักสำคัญเพื่อนำไปสู่สภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนชาวไทย ด้วยการสร้างความมั่นคงทางด้านสุขภาพทั้งของคนและสัตว์ ให้อยู่ดีมีสุข มีคุณภาพชีวิตที่ได้มาตรฐาน ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศชาติอย่างยั่งยืนต่อไป