นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้รับโจทย์จากนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้พิจารณามาตรการช่วยเหลือประชาชน โดยรูปแบบจะเป็นการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และผู้ได้รับผลกระทบจากราคาพลังงาน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างหารือแนวทางกับสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งจะต้องได้ข้อสรุปภายในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมิถุนายน 2565
นายอาคม กล่าวว่า ช่วงที่โดนโควิด-19 กระทบ ก็มีผลต่อกำลังซื้อ กำลังในการเติมน้ำมันน้อยลง จึงอยากช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มประชาชนฐานราก อย่างกลุ่มวินมอเตอร์ไซค์ จะดูว่าจะสามารถช่วยเหลือต่อไปได้อย่างไรบ้าง เช่น เป็นการลดค่าใช้จ่าย แต่จะต้องเป็นวินมอเตอร์ไซค์ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมขนส่งทางบก ดังนั้น มาตรการที่เหวี่ยงแหแบบทั่วไปก็คงลดน้อยลง
ส่วนโครงการคนละครึ่ง เฟส 5 ไม่ได้ดำเนินการด้วยงบประมาณรายจ่ายประจำปี แต่ใช้งบประมาณจากเงิน พ.ร.ก.กู้เงิน ซึ่งการกู้เงินก็มีเหตุผลที่จะต้องกู้มาเพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างไรก็ดี เมื่อเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวกลับมา ความจำเป็นในการออกมาตรการอาจจะลดน้อยลงไป และการออก "คนละครึ่ง" จะต้องช่วยเหลือรวมทั้งในกลุ่มบัตรคนจนด้วย ซึ่งใช้งบประมาณค่อยข้างมาก ความจำเป็นที่จะใช้มาตรการในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นกลับเข้ามา จะต้องเน้นทำให้ถูกฝาถูกตัวมากขึ้น เพราะทุกประเทศก็ต้องดูรายได้ของรัฐบาล จะใช้จ่ายเหมือนเดิมไม่ได้ ซึ่ง พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท มีวงเงินเหลืออยู่ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท อาจจะไม่เพียงพอ เพราะการออกมาตรการแต่ละครั้งต้องใช้งบประมาณ 3-5 หมื่นล้านบาท
ขณะที่ข้อจำกัดของรายได้ต้องปรับทางด้านนโยบายการคลังให้เข้าสู่ภาวะปกติ เพราะรับหนี้เข้ามาจาก พ.ร.ก.กู้เงิน ทั้ง 2 ฉบับกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งมีการพูดถึงมาโดยตลอดว่า เมื่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น จะมีแนวทางหารายได้เพิ่มขึ้นหรือไม่ แต่วงเงินจาก พ.ร.ก.ได้เยียวยา 6.6 แสนล้านบาท ซึ่งในแง่ภาครัฐก็ช่วยเหลือจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงเยียวยาผู้อยู่ในระบบประกันสังคม มาตรา 33, 39, และ 40 ที่เป็นอาชีพอิสระ ดังนั้นในระยะต่อไปจะต้องหารายได้เพิ่มขึ้น