กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงกรณีทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิของประเทศไทยหลุดจากตำแหน่งที่ติดตั้ง ว่า ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (ศภช.ปภ.) ได้ติดตั้งทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิ จำนวน 2 ทุ่น ในมหาสมุทรอินเดียและทะเลอันดามัน โดยทุ่นที่ 1 (ทุ่นตัวไกล) เป็นทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย สถานี 23401 ติดตั้งห่างจากเกาะภูเก็ต ไปทางทิศตะวันตกเป็นระยะทาง 965 กิโลเมตร ซึ่งทุ่นตรวจวัดนี้ได้หลุดจากตำแหน่งติดตั้งไปเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2564 และได้ติดตามพบ สามารถเก็บกู้ได้ พบความเสียหาย จึงได้ประสานฝากไว้ที่ประเทศอินเดีย สำหรับทุ่นตัวใหม่ขณะนี้อยู่ระหว่างการผลิตและกำหนดส่งถึงประเทศไทยในเดือนสิงหาคม 2565 และจะนำออกไปติดตั้งทดแทนในมหาสมุทรอินเดียได้ในเดือนพฤศจิกายน 2565 เนื่องจากต้องรอสภาพอากาศในมหาสมุทรอินเดียและทะเลอันดามันไม่ให้เป็นอุปสรรคในการติดตั้งและมีความปลอดภัย
สำหรับทุ่นที่ 2 (ทุ่นตัวใกล้) เป็นทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิในทะเลอันดามัน สถานี 23461 ได้ติดตั้งห่างจากเกาะภูเก็ต ประมาณ 340 กิโลเมตร ซึ่งเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบระบบระบุตำแหน่ง (Global Positioning System : GPS) พบว่าทุ่นได้หลุดลอยออกจากตำแหน่งรัศมีการติดตั้ง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างประสานการเก็บกู้ และจะได้นำทุ่นตัวใหม่ไปติดตั้งทุ่นทดแทนพร้อมกับทุ่นตัวที่ 1
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานว่า กรณีที่ทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิหลุดจากตำแหน่งนั้น ระบบการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยสึนามิของประเทศไทยยังคงดำเนินการได้ เนื่องจากการติดตามเฝ้าระวัง แจ้งเตือนภัยการเกิดสึนามิของประเทศไทย เป็นการใช้และประมวลข้อมูลจากหลายฐาน โดยข้อมูลจากทุ่นสึนามิของไทยเป็นหนึ่งในแหล่งข้อมูลที่ใช้ร่วมกับข้อมูลจากเครื่องมือเฝ้าระวังของหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่มีความเชี่ยวชาญทั้งภายในและต่างประเทศ ได้แก่ หน่วยงานบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (National Oceanic and Atmospheric Administration : NOAA) ข้อมูลสถานีวัดระดับน้ำทะเลจากเว็บไซต์ของ The Intergovernmental Oceanographic Commission : IOC เป็นต้น โดยเฉพาะข้อมูลระดับน้ำจากสถานีวัดระดับน้ำทะเลของประเทศอินเดีย ประเทศอินโดนีเซียเป็นต้น
นอกจากนี้ ยังใช้ข้อมูลจากติดตามการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลบริเวณสถานีเกาะเมียง จังหวัดพังงาของกรม อุทกศาสตร์ กองทัพเรือ และสถานีเกาะราชาน้อย จังหวัดภูเก็ต ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งข้อมูลทั้งหมดนี้จะนำมาใช้ประกอบการวิเคราะห์กับแบบจำลองการเกิดสึนามิของประเทศไทยที่ได้ออกแบบไว้ล่วงหน้า เพื่อชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงที่อาจจะได้รับผลกระทบจากสึนามิที่แสดงข้อมูลเชิงลึกได้ถึงพื้นที่ ช่วงเวลาในการเกิดคลื่นสึนามิ และความเร็วของคลื่นที่จะเข้าสู่ฝั่ง
ในกรณีที่ทุ่นสึนามิของประเทศไทยหลุดออกจากตำแหน่ง หรือกรณีไม่ส่งสัญญาณนั้น จะมีผลทำให้ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ไม่ได้รับข้อมูลโดยตรงจากทุ่นสึนามิของไทย แต่ในขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อแจ้งเตือนภัยสึนามิของประเทศไทยจะมีการส่งสัญญานแจ้งเตือนภัยไปยังพื้นที่ในจังหวัดที่มีความเสี่ยงภัย เมื่อได้รับแจ้งข้อมูลยืนยันจากการประมวลผลข้อมูลตามแบบจำลองการวิเคราะห์และของผู้เชี่ยวชาญจาก NOAA แล้ว โดยในการวิเคราะห์ประมวลผลของ NOAA จะเป็นวิเคราะห์โดยใช้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากอุปกรณ์เครื่องมือของเครือข่ายจากประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยซึ่งเป็นสมาชิก NOAA ในเรื่องสึนามิอยู่ ดังนั้นการปฏิบัติในขั้นตอนนี้จึงยังคงดำเนินการได้ตามปกติ
ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ยังคงปฏิบัติภารกิจการติดตาม เฝ้าระวัง และแจ้งเตือนสึนามิตามระเบียบปฏิบัติประจำ (Standard Operating Procedure : SOP) ด้านการแจ้งเตือนภัยสึนามิฝั่งอันดามันอย่างเคร่งครัด เพื่อให้สามารถแจ้งเตือนประชาชนผ่านช่องทางต่างๆ กำหนดได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันต่อเหตุการณ์