xs
xsm
sm
md
lg

"หมอฉันชาย"ห่วงการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ ประสาน"ผู้ว่าฯ ชัชชาติ"เฝ้าระวังการใช้ใน รร.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในงานเสวนาของศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) โดยระบุว่า ที่ผ่านมามีนโยบายทางการเมืองผลักดันเรื่องการใช้กัญชา ทำให้เห็นถึงการย้อนแย้งของนโยบายที่ประกาศและการปฏิบัติจริง โดยสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุข เน้นเสมอ คือ ใช้กัญชาทางการแพทย์ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และ ไม่ส่งเสริมสันทนาการ แต่ทั้ง 3 คำนี้มีความย้อนแย้งกันมาก เพราะการใช้กัญชาทางการแพทย์มีใช้อยู่ 3-4 อย่าง คือ เป็นยาแผนปัจจุบัน มีข้อบ่งชี้ 6-7 โรค ส่วนใหญ่เป็นยาแผนโบราณ มีสูตรต่างๆ มากมาย ถือว่าสีเทาพอสมควร ถ้าควบคุมการผลิตดี คุมปริมาณให้เหมาะสม ก็จะไม่เกิดผลเสียมากนัก

สำหรับสิ่งที่น่ากังวลคือใช้สันทนาการ แต่อ้างข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เช่น อ้างว่าปวดหัว รู้สึกไม่สบาย แล้วจะยิ่งมีความเป็นสีเทามาก เชื่อว่าจะมีคนไม่น้อยที่จะอ้างในลักษณะนี้ นอกจากนี้ ยังมาในรูปแบบที่เราไม่เห็น เช่น ผสมในอาหาร

รศ.นพ.ฉันชาย กล่าวว่า ตอนนี้ความจำเป็นต้องการใช้กัญชาเรามองไม่ค่อยเห็น แต่ Supply size โตขึ้นมหาศาล หากโตเกินความต้องการ อนาคตจะเกิดการลงใต้ดินไปขายที่อื่น ซึ่งจะต้องเฝ้าระวัง

ส่วนกรณีตั้งคณะกรรมการบูรณาการนโยบายพืชกัญชาและกัญชง ซึ่งมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน รศ.นพ.ฉันชาย มองว่า ตั้งความหวังจากกรรมการชุดนี้ไม่ได้มากนัก เพราะในตอนแรกคาดหวังว่าจะได้นายวิษณุ เครืองาม เป็นประธาน โดยก่อนที่ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. ... จะออกมามา ได้มีการหารือร่วมกับโรงเรียนแพทย์ และโรงพยาบาลเอกชน ให้มีการเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพของประชาชนอย่างมาก เก็บทุกเคส เพราะถ้ารอการรายงานจากกระทรวงสาธารณสุข คงยาก หากมีปัญหาเกิดขึ้นแต่ไม่รายงาน จะกลายเป็นความชอบธรรมให้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว และออกมาเบามาก เพราะอ้างได้ว่าเปิดเสรีแล้วยังไม่เห็นมีปัญหาอะไร

นอกจากนี้ ได้พูดคุยกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้ช่วยเฝ้าระวังการใช้ในโรงเรียน ดังนั้น เราต้องรวมกลุ่มกันและหาข้อมูลเชิงประจักษ์ชัดเจน

สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ที่ผ่านการรับร่างมี 2 ร่าง คือ ร่างของพรรคภูมิใจไทย คือกัญชาเสรีเลย และร่างของพรรคพลังประชารัฐ เน้นใช้ทางการแพทย์ ขณะนี้มีการตั้งกรรมาธิการ 25 คน แต่ ส.ส. ไม่ยอมให้แพทย์เข้าร่วมเป็นกรรมาธิการ จึงต้องอาศัยการเข้าไปร่วมเป็นที่ปรึกษา ซึ่งมีแล้ว 1 ท่าน ยังเหลืออีก 1 ท่านที่ต้องส่งชื่อเข้าไป อย่างน้อยการเข้าไปเป็นที่ปรึกษาจะได้เข้าร่วมและให้ความเห็นในที่ประชุมกรรมาธิการ ซึ่งเชื่อว่าต้องมีความพยายามผลักดันให้ร่าง พ.ร.บ. ผ่านโดยเร็วแน่นอน ถ้าผ่านออกมาจะเป็นฉบับที่ปล่อยมาก และจะเป็นปัญหามาก