xs
xsm
sm
md
lg

นักบินอวกาศญี่ปุ่นเตรียมเข้าร่วมภารกิจสำรวจดวงจันทร์ในโครงการอาร์ทีมิส

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

เพจสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ระบุว่า นักบินอวกาศญี่ปุ่นจะได้เข้าร่วมภารกิจสำรวจดวงจันทร์ของโครงการอาร์ทีมิส (Artemis) ที่นำโดยองค์การนาซา

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวว่า นักบินอวกาศชาวญี่ปุ่นจะได้ขึ้นไปกับยานในโครงการอาร์ทีมิสขององค์การนาซาเพื่อมุ่งสู่ดวงจันทร์ และอาจได้ลงไปสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ด้วย ซึ่งเป็นการผลักดันระหว่างองค์การอวกาศของทั้งฝั่งญี่ปุ่น-สหรัฐฯ เพื่อขยายขอบเขตการสำรวจดวงจันทร์

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ และนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ แห่งญี่ปุ่น ได้ยืนยันถึงเรื่องภารกิจอวกาศร่วมกันในการประชุมผู้นำทั้งสองฝ่ายที่จัดขึ้นในกรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ. 2022 ที่ผ่านมา โดยมีประกาศเรื่องนี้จากทางองค์การนาซาและทำเนียบขาวของสหรัฐฯ

โครงการอาร์ทีมิสเป็นความพยายามของสหรัฐฯ ที่จะพานักบินอวกาศกลับไปสำรวจดวงจันทร์อีกครั้ง ภายในคริสต์ทศวรรษ 2020 เป็นภารกิจของนักบินอวกาศที่ยาวนานกว่าโครงการอะพอลโล โดยจะสร้างสถานีอวกาศ Gateway โคจรรอบดวงจันทร์ และสถานีบนพื้นผิวดวงจันทร์บริเวณขั้วใต้ที่อุดมไปด้วยน้ำแข็ง และทางองค์การนาซาระบุว่าตามแผนภารกิจของโครงการอาร์ทีมิสจะมีนักบินอวกาศชาวญี่ปุ่นเข้ามาปฏิบัติภารกิจที่สถานีอวกาศ Gateway ด้วย

ญี่ปุ่นถือว่าเป็นประเทศที่มีกิจการอวกาศในแนวหน้าของโลกอยู่แล้ว อย่างองค์การวิจัยและพัฒนาการสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) ที่สามารถนำตัวอย่างหินและดินจากดาวเคราะห์น้อยกลับมายังโลกได้สำเร็จเมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 2020 และมีส่วนร่วมในโครงการสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) โดยเฉพาะเทคโนโลยีแขนกลกับโมดูลคิโบะ (Kibo) ที่ใช้เป็นส่วนทดลองทางวิทยาศาสตร์ของสถานีอวกาศ รวมถึงนักบินอวกาศชาวญี่ปุ่นที่ขึ้นยาน SpaceX Dragon2 ไปร่วมปฏิบัติภารกิจบน ISS

หากโครงการความร่วมมือในครั้งนี้ได้รับการยืนยัน จะช่วยให้ญี่ปุ่นขยายขอบเขตการสำรวจอวกาศได้มากขึ้นจากการสำรวจอวกาศของญี่ปุ่นที่มีอยู่แล้ว (เช่น การส่งยานหุ่นยนต์สำรวจระบบสุริยะ) และสอดคล้องกับแนวทางของนายกรัฐมาตรีคิชิดะขณะรับตำแหน่ง ที่ตั้งใจจะผลักดันส่งนักบินอวกาศญี่ปุ่นไปสำรวจดวงจันทร์ นอกจากนี้ยังเป็นโครงการที่ครอบคลุมการพัฒนาเทคโนโลยีอีกหลายด้าน เช่น เครือข่ายโทรศัพท์มือถือ 5G ความมั่นคงทางไซเบอร์ ไปจนถึงความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ปัจจุบันทาง JAXA กำลังจะเริ่มโครงการนักบินอวกาศชุดใหม่ โดยเปิดรับสมัครบุคคลเข้าเป็นนักบินอวกาศครั้งแรกในรอบ 13 ปี เมื่อปี ค.ศ.2021 จนมีผู้สมัครมากถึง 4,127 คน

ความร่วมมือด้านอวกาศของญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา

ญี่ปุ่นมีความร่วมมือทางอวกาศที่ต่อเนื่องกับสหรัฐฯมานานนับสิบปีแล้ว และเป็นประเทศกลุ่มแรกๆ ที่ร่วมลงนามในข้อตกลงโครงการอาร์ทีมิสในปี ค.ศ. 2020 เพื่อความร่วมมือทางอวกาศระหว่างชาติพันธมิตรกับสหรัฐฯ ซึ่งในปัจจุบัน มีประเทศที่ร่วมลงนามเข้าร่วมโครงการอาร์ทีมิสแล้ว 19 ประเทศ

ตัวอย่างของความร่วมมือทางอวกาศระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ ที่มีอยู่แล้ว คือ การแลกเปลี่ยนตัวอย่างหินและดินจากดาวเคราะห์น้อยที่ยานของญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ เก็บมา ญี่ปุ่นได้มอบตัวอย่างที่ยานฮายาบูสะ 2 เก็บจากดาวเคราะห์น้อยริวงูให้แก่สหรัฐฯ และสหรัฐฯ จะมอบตัวอย่างที่ยานโอไซริส-เร็กซ์เก็บจากดาวเคราะห์น้อยเบนนูแก่ญี่ปุ่น หลังจากที่แคปซูลเก็บตัวอย่างจะกลับมาถึงโลกในปี ค.ศ. 2023 เพื่อการวิจัยเกี่ยวกับดาวเคราะห์น้อยในญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ต่อไป

นอกจากประเด็นเรื่องการพานักบินอวกาศคนญี่ปุ่นมุ่งสู่ดวงจันทร์กับโครงการอาร์ทีมิส และการแลกเปลี่ยนตัวอย่างเพื่อการวิจัยดาวเคราะห์น้อยแล้ว เรื่อง “การสังเกตการณ์โลก” เพื่อพัฒนาการศึกษาความเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ก็เป็นอีกประเด็นในความร่วมมือทางอวกาศระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ ซึ่งจะเปิดให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลด้านภูมิอากาศจากองค์การอวกาศ 3 ฝั่ง (สหรัฐฯ กลุ่มชาติยุโรป และญี่ปุ่น)

ความร่วมมือด้านอวกาศของสหรัฐอเมริกากับชาติอื่นในขณะนี้

ในช่วงที่สหรัฐฯ อยู่ภายใต้การบริหารของรัฐบาลไบเดน วงการอวกาศในระดับนานาชาติเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อย่างการรุกรานยูเครนของรัสเซียที่เริ่มเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2022 ทำให้ความร่วมมือทางอวกาศจำนวนมากถูกยกเลิกไป (โดยเฉพาะความร่วมมือระหว่างฝั่งสหรัฐฯ-กลุ่มชาติยุโรป กับฝั่งรัสเซีย) และแม้ว่าโครงการ ISS ที่รัสเซียยังคงมีส่วนร่วมอยู่ แต่ก็ไม่มีฝ่ายใดยืนยันว่าสถานีอวกาศแห่งนี้จะได้รับการขยายภารกิจออกไปจากกำหนดสิ้นสุดในปี ค.ศ. 2024 หรือไม่ ถึงแม้รัฐบาลไบเดนพยายามให้สหรัฐฯ ต่อระยะเวลาของโครงการ ISS ออกไปอีก 6 ปี

ขณะที่สหรัฐฯ ยังมีความร่วมมือด้านอวกาศกับชาติพันธมิตรแห่งอื่น นอกเหนือจากญี่ปุ่น ได้แก่

- เกาหลีใต้ : เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีไบเดนแห่งสหรัฐฯ กับประธานาธิบดียุน ซ็อก-ย็อล แห่งเกาหลีใต้ ได้ร่วมประชุมระหว่างผู้นำทั้งสองประเทศที่กรุงโซล และรัฐบาลสหรัฐฯ ตกลงที่จะขยายความร่วมมือทางอวกาศกับเกาหลีใต้

- แคนาดา : ประเทศเพื่อนบ้านทางเหนือของสหรัฐฯ เป็นอีกชาติพันธมิตรในด้านการสำรวจอวกาศ โดยแคนาดาจะร่วมส่งนักบินอวกาศชาวแคนาดาไปสำรวจดวงจันทร์กับโครงการอาร์ทีมิส ซึ่งในการลงนามร่วมโครงการอาร์ทีมิสของแคนาดานั้น เทคโนโลยีอวกาศของแคนาดาในเรื่องแขนกลขนาดใหญ่ที่เคยใช้กับกระสวยอวกาศ (Canadarm1) และสถานีอวกาศนานาชาติ (Canadarm2) จะพัฒนามาใช้ต่อเป็น Canadarm3 สำหรับสถานีอวกาศ Gateway