xs
xsm
sm
md
lg

ทรภ.3 ช่วยเหลือทางมนุษยธรรมโรฮีนจาถูกปล่อยเกาะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พลเรือโท ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ ชี้แจงกรณีตรวจพบชาวโรฮีนจาหลบหนีเข้ามาพักบริเวณเกาะลอ-กลอย อุทยานแห่งชาติตะรุเตา จังหวัดสตูล นั้น จากการตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2565 เวลาประมาณ 10.00 น. แหล่งข่าวทางทะเลแจ้งว่า พบกลุ่มคนอยู่บนเกาะลอ-กลอย (หรือเกาะดง) คาดว่าเป็นกลุ่มคนหลบหนีเข้าเมือง ในการนี้ ศูนย์ปฏิบัติการทัพเรือภาคที่ 3 (ศปก.ทรภ.3) จึงได้สั่งการให้ หน่วยปฏิบัติการต่อสู้อากาศฝั่งที่ 491 (นป.สอ.รฝ.491) เข้าดำเนินการตรวจสอบร่วมกับ เจ้าหนาที่อุทยานแห่งชาติตะรุเตา เบื้องต้นตรวจพบว่าเป็นชาวโรฮีนจา จำนวน 59 คน แบ่งเป็นชาย 31คน หญิง 23 คน เด็กชาย 3 คน เด็กหญิง 2 คน โดยทั้งหมดได้โดยสารมากับเรือประมงขนาดใหญ่ออกเดินทางจากประเทศบังกลาเทศ โดยมีจุดหมายที่ประเทศมาเลเซีย แต่เมื่อเดินทางมากัปตันเรือได้นำกลุ่มคนเหล่านี้มาปล่อยไว้บนเกาะดังกล่าวพร้อมทั้งบอกว่าเกาะนี้คือพื้นที่ประเทศมาเลเซีย หลังจากนั้นก็ออกเรือไป ศปก.ทรภ.3 จึงได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดอาหารและน้ำดื่มให้กับชาวโรฮีนจาบนเกาะลอ-กลอย พร้อมจัดเรือ ต.996 ลำเลียงชาวโรฮีนจา จากเกาะลอ-กลอย ไปยัง นป.สอ.รฝ.452 เพื่อส่งให้ กอ.รมน.จังหวัดสตูล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมาย ล่าสุด เรือ ต.996 ได้ลำเลียงชาวโรฮีนจา จำนวน 59 คน ส่งตัวให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอละงู เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย จากนั้น กอ.รมน.จังหวัดสตูล นำตัวไปควบคุมที่กองร้อย ตชด. 436 ตำบลคลองขุด อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ต่อไป

โฆษกกองทัพเรือ กล่าวว่า ศูนย์อำนวยการลาดตระเวนและช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผู้โยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย กองทัพเรือ (ศอ.ยฐ.ทร.) และศูนย์ปฏิบัติการลาดตระเวนและช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผู้โยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดียทัพเรือภาคที่ 3 (ศปก.ยฐ.ทรภ.3) ยังคงเพิ่มความเข้มงวดในการจัดกำลังลาดตระเวนทางทะเลและทางอากาศ การเฝ้าตรวจพื้นที่ตามเกาะต่างๆ และการจัดเรือรับสถานการณ์เฝ้าระวังในพื้นที่บริเวณแนวชายแดนทางทะเลไทย – มาเลเซีย โดยเฉพาะบริเวณหมู่เกาะอาดัง-ราวี ที่เป็นจุดเสี่ยง และคาดว่าเรือของกลุ่มผู้หลบหนีฯ จะเดินทางผ่านไปยังประเทศเป้าหมาย รวมทั้งประสาน ศรชล.ภาค 3 เพื่อแจ้งให้กลุ่มเรือประมงในพื้นที่ ได้ช่วยในการเฝ้าระวัง

ทั้งนี้ กองทัพเรือยังคงยึดถือการปฏิบัติต่อผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฏหมายตามแนวทางการปฏิบัติต่อผู้หลบหนีเข้าเมืองทางทะเล (Standard Operating Procedure – SOP) ที่ สมช. กำหนดอย่างเคร่งครัด รวมทั้งการช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมตามความเหมาะสมในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน