นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ขณะนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ผู้ป่วยปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิต ลดลงอย่างต่อเนื่อง ภาพรวมอยู่ในช่วงระยะขาลงทั้งประเทศ มาตรการต่างๆ เริ่มผ่อนปรนลงมา เช่น การเปิดสถานบันเทิงใน 31 จังหวัดที่ผ่านเกณฑ์บริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 ได้ดี ซึ่งการเปลี่ยนผ่านโรคโควิด-19 ไปสู่โรคประจำถิ่นนั้น หนึ่งในมาตรการที่สำคัญ คือ ประชาชนได้รับวัคซีนทั้งเข็มปกติและเข็มกระตุ้นครอบคลุมทุกกลุ่ม (Universal Vaccination) โดยแต่ละจังหวัดต้องมีความครอบคลุมของการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 เพราะปัจจุบันมีข้อมูลวิจัยจากต่างประเทศและจากการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ไทย พบว่า เมื่อฉีดวัคซีนแล้ว 4-6 เดือน ภูมิคุ้มกันจะลดลง ต้องฉีดเข็มกระตุ้น จึงจะสามารถป้องกันการติดเชื้อ การป่วยหนักและเสียชีวิตได้ดี
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลวันที่ 2 มิถุนายน 2565 มีผู้ที่ครบกำหนดฉีดเข็มกระตุ้นมารับการฉีดประมาณครึ่งหนึ่งเท่านั้น โดยพบว่า 20 จังหวัดที่ประชาชนฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นได้น้อย เปรียบเทียบกับจำนวนประชากรที่ถึงกำหนดรับเข็มกระตุ้นแล้ว ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี สตูล ยะลา บึงกาฬ สกลนคร หนองบัวลำภู นครศรีธรรมราช ชุมพร กระบี่ พัทลุง ตรัง เลย กาฬสินธุ์ แม่ฮ่องสอน สระแก้ว หนองคาย มุกดาหาร สุราษฎร์ธานี และจันทบุรี จึงต้องเร่งสื่อสารเชิญชวนประชาชนให้มารับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อให้ทุกคนมีภูมิคุ้มกันเพิ่มมากขึ้นเพียงพอรองรับการเปิดประเทศ และใช้ชีวิตได้เป็นปกติและมีความปลอดภัยมากขึ้น
ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขมีแผนจัดส่งวัคซีนโควิด-19 ทั้งซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า และไฟเซอร์ ไปยัง รพ.สต. ซึ่งเป็นหน่วยบริการที่ใกล้บ้านที่สุด เพื่อให้เกิดความสะดวกกับประชาชนที่อยู่ห่างไกล สามารถพาผู้สูงอายุและผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงไปฉีดวัคซีนกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน และให้บริการแบบ Walk in ทุกจุดฉีด
นอกจากนี้ รพ.สต. หลายแห่งยังร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ออกสำรวจประชาชนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน และจัดวัคซีนไปบริการเชิงรุกถึงบ้าน กระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. สนับสนุนทั้งอุปกรณ์และค่าบริการฉีดวัคซีนให้กับ รพ.สต.
นายแพทย์โสภณ ย้ำว่า ถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนและประชาชนต้องร่วมมือกันในช่วงเวลาที่สำคัญ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อโควิด-19 ให้เพียงพอ โดยมีวัคซีนเข็มกระตุ้นครอบคลุมอย่างน้อยร้อยละ 60 หากไม่ช่วยกันระดมกำลังและจัดวัคซีนไว้พร้อมบริการในทุกพื้นที่ อาจจะส่งผลกระทบต่อแผนการเปลี่ยนผ่านโรคโควิด-19 ไปสู่โรคประจำถิ่นได้ จึงขอให้ทุกจังหวัดเร่งประชาสัมพันธ์ถึงประโยชน์และความจำเป็นของวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมเข้าสู่ระยะโรคประจำถิ่น ซึ่งผู้คนจะสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติและปลอดภัย