xs
xsm
sm
md
lg

“พนิต”ชี้ผลเลือกตั้งสนาม กทม. แสงสว่างประชาธิปไตย ส.ว.ต้องฟังเสียงประชาชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก Panich Vikitsreth - พนิต วิกิตเศรษฐ์  หัวข้อ “ผลเลือกตั้งสนาม กทม. แสงสว่างประชาธิปไตย ส.ว.ต้องฟังเสียงประชาชน”ระบุว่า ผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร หรือ ส.ก. เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยเฉพาะคะแนนที่คนกรุงเทให้กับ คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ 1.3 ล้าน ซึ่งมากที่สุดเท่าที่ผู้ชนะการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในอดีตเคยได้รับ ผมถือว่า เป็นแสงแห่งความหวังในการกอบกู้ซากประชาธิปไตยที่ถูกทำลายมาตลอดระยะเวลา 8 ปี

จะเห็นว่า หลังทราบผลเลือกตั้ง ประชาชนให้การยอมรับและสนับสนุนการทำงานของคุณชัชชาติอย่างเต็มที่ นั่นเพราะคุณชัชชาติคือ คนที่เข้ามาโดยถูกต้องตามครรลองระบอบประชาธิปไตย

คุณชัชชาติไม่มีอำนาจรัฐหรือกติกาใดมาเอื้อประโยชน์ให้ คะแนนที่ท่วมท้นเกิดจากความต้องการของประชาชนใน กทม. อย่างแท้จริง

ผมหวังจะเห็นว่า การแสดงพลังผ่านระบอบประชาธิปไตยแบบนี้อีกครั้งในการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งหน้า เพื่อให้ประชาชนได้เลือกคนที่เขาต้องการและไว้วางใจมาบริหารประเทศจริงๆ โดยปราศจากกลไกและกติกาใดๆ ที่ไม่เป็นประชาธิปไตยมาขัดขวาง

เพราะผมเชื่อว่า ไม่ว่าใครได้เข้ามาบริหารประเทศหากเป็นความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง ในกติกาที่เป็นธรรม จะได้รับการยอมรับและสนับสนุนการทำงานเหมือนที่คุณชัชชาติได้รับ

แต่ผมไม่แน่ใจว่า การเลือกตั้งครั้งหน้าคนที่ได้รับฉันทามติจากประชาชนแบบเดียวกับคุณชัชชาติ จะได้เข้ามาบริหารประเทศหรือไม่ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ยังมีกติกาหลายอย่างที่เป็นอุปสรรคต่อระบอบประชาธิปไตยอยู่ไม่น้อย

โดยเฉพาะอำนาจของ ส.ว. ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญมาตรา272 ที่ยังสามารถร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ตรงนี้น่ากังวลว่า หากมีใครพยายามจะรักษาอำนาจตัวเองใช้กลไกนี้สกัดกั้น เราอาจไม่ได้ผู้นำที่มาจากความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริงอีก

ผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องได้รับเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาที่มีทั้งหมด 750 เสียง (ส.ส.500 คน ส.ว.250 คน) โดยต้องได้ 376 เสียง หากการเลือกตั้งครั้งหน้า ไม่มีพรรคการเมืองใดสามารถรวบรวมเสียง ส.ส.ได้ถึง 376 เสียง นั่นหมายความว่า เสียง ส.ว.จะเป็นตัวชี้ขาดทันที

มันน่าสนใจมากว่าหาก ส.ว.ลงมติแตกต่างกับเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนในการเลือกตั้ง กระบวนการฟื้นฟูประชาธิปไตยที่เราคาดหวังว่าจะเกิดขึ้นหลังเห็นแสงสว่างแห่งความหวังในการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. และ ส.ก.ที่ผ่านมาจะสะดุดหยุดลงอีกครั้ง

ผมขอยืนยันตรงนี้ว่า ไม่ได้มีอคติกับการมี ส.ว. และสนับสนุนให้มี ส.ว.ในกระบวนการนิติบัญญัติเพื่อถ่วงอำนาจตามครรลองที่ควรจะเป็น แต่การให้อำนาจ ส.ว.ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นสิ่งที่ผมไม่เห็นด้วยมาตลอด

แต่ในเมื่อบทเฉพาะกาลกำหนดเอาไว้แบบนั้น และที่ผ่านมาไม่ได้มีการแก้ไขอำนาจ ส.ว.ตรงนี้ เพราะ ส.ว. และผู้มีอำนาจไม่ยินยอม ผมจึงได้แต่หวังว่า เมื่อถึงการเลือกตั้งใหญ่อีกไม่ถึง 10 เดือนข้างหน้า ส.ว.จะเคารพเสียงของประชาชนที่แสดงออกผ่านการเลือกตั้ง ไม่ทำอะไรที่เป็นตัวฉุดรั้งกระบวนการฟื้นฟูประชาธิปไตยของประเทศ เช่นฝ่ายไหนชนะและได้เสียงข้างหน้า ก็ควรยอมรับมติดังกล่าวนั้น

เพราะเราเห็นแล้วว่า กระบวนการใดๆ ที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม หรือเป็นการยัดเยียดให้กับประชาชน สุดท้ายจะไม่ได้รับการยอมรับ และนำพาประเทศไปสู่วิกฤตการณ์ต่างๆ อย่างที่เราเห็นกันมาตลอดหลายปีมานี้

คุณอาจรักษาอำนาจได้ แต่คุณจะไม่มีวันได้ใจประชาชน และที่สุดคุณจะไม่อาจต้านทานพลังความต้องการของประชาชนได้ เหมือนกับที่เราเห็นในสนาม กทม.

#ส.ว.ต้องฟังเสียงชาวบ้าน
#หนุนแก้มาตรา 272