xs
xsm
sm
md
lg

"หมอยง"แจง"ฝีดาษลิง"ไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ ยันยังไม่พบในไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงเรื่องฝีดาษลิง ว่า โรคนี้ไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ มีมานานกว่า 10 ปี โดยพบผู้ป่วยรายแรกที่แอฟริกา และมีความแตกต่างจากเชื้อผีดาษในคน ที่พบว่าสามารถติดต่อทางระบบทางเดินหายใจ และสารคัดหลั่งจากการไอ จาม แต่สำหรับฝีดาษในลิงนี้ จะมีการติดต่อได้จากการสัมผัสบาดแผล หรือฝีหนอง และเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน โรคนี้พบในลิงแอฟริกา แต่มีพาหะคือหนู หรือ สัตว์ฟันแทะ ตระกูลหนู กระรอก ทั้งนี้ การที่พบผู้ป่วยในต่างประเทศ ก็มาจากการเลี้ยงสัตว์แปลก หรือมีการเดินทางไปที่แอฟริกามาก่อน

ศ.นพ.ยง กล่าวว่า สำหรับการติดต่อของฝีดาษลิง ถือว่าติดต่อได้ยากเมื่อเทียบกับฝีดาษคน เพราะต้องสัมผัสกับ บาดแผล ฝีหนอง ของคนป่วย ทำให้เกิดอาการไข้ ไอ เจ็บคอ และมีตุ่มแดงขึ้น จากนั้นพัฒนากลายเป็นตุ่มน้ำใส และแตกออก ส่วนใหญ่มีอาการประมาณ 2-4 วันก็สามารถหายได้ ส่วนระยะเวลาการฟัเชื้อ 5-14 วัน แต่บางคนก็มีอาการรุนแรงเสียชีวิตได้ เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันต่ำ ประมาณ 10% ดังนั้น โรคนี้แก้ได้ด้วยการรักษาสุขอนามัย หมั่นล้างมือ และหากมีอาการไอ จาม ก็ควรสวมหน้ากากอนามัย

ทั้งนี้ โรคนี้มีวัคซีน และสามารถใช้วัคซีนฝีดาษในคนป้องกันได้ แม้จะให้ผล 85% แต่ทั้งนี้ที่คนส่วนใหญ่ต้องเร่งขจัดโรคฝีดาษลิงไม่แพร่ เนื่องจากการพบฝีดาษลิงในคน เท่ากับการทำให้ไวรัสมีการพัฒนา ข้ามสายพันธุ์ หากมากขึ้นก็อาจกลายพันธุ์ได้ ฉะนั้นทำให้นานาประเทศต้องเร่งขจัด

ศ.นพ.ยง กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย ยังไม่ต้องแตกตื่นและกังวลกับโรคนี้ ยังไม่ได้เกิดในไทย และเชื้อนี้ก็ไม่มีในลิงของไทย มีเชื้อเฉพาะในลิงแอฟริกา ย้ำหากผ่านโควิดมาได้ การป้องกันตัวสำหรับโรคนี้ก็ไม่แตกต่างกัน สุขอนามัย เป็นเรื่องสำคัญและอย่าได้เลี้ยงสัตว์แปลกจากต่างประเทศ ส่วนฝีดาษในคน ประเทศไทยได้ขจัดโรคนี้จากการปลูกฝี และหมดไปในปี 2517 ฉะนั้นเด็กที่เกิดหลังปี 2517 ก็จะไม่พบโรคนี้อีก