xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำชาติอาเซียน-สหรัฐฯ ออกแถลงการณ์แสดงวิสัยทัศน์ร่วม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้นำประเทศสมาชิกประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน และสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์แสดงวิสัยทัศน์ร่วม (Joint Vision Statement) เนื่องในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-สหรัฐฯ (US-ASEAN Summit) ณ กรุงวอชิงตัน ระหว่างวันที่ 12-13 พฤษภาคม 2565 ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกที่จัดขึ้นที่กรุงวอชิงตัน สมัยพิเศษ ในโอกาสเฉลิมฉลอง 45 ปีของความสัมพันธ์สหรัฐฯ-อาเซียน และเสริมสร้างบทบาทของอาเซียนในการนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนต่อความท้าทายเร่งด่วนที่สุดของภูมิภาคในหลายด้าน ทั้งเป็นการสะท้อนท่าทีของสหรัฐฯ ในการสร้างความเชื่อมั่นว่าอาเซียนยังมีความสำคัญต่อสหรัฐฯ

ในแถลงการณ์ ระบุถึงความร่วมมือในการต่อสู้กับการระบาดของโควิด-19 การสร้างความมั่นคงด้านสาธารณสุข และการฟื้นฟูหลังการระบาดร่วมกัน

ส่วนประเด็นด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายตกลงทำงานร่วมกันเพื่อสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน รวมถึงการปฏิบัติตามการจัดการกรอบการค้าและการลงทุนอาเซียน-สหรัฐฯ (ASEAN-U.S. Trade and Investment Framework Arrangement) และ แผนปฏิบัติการโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจแบบขยาย (Expanded Economic Engagement Initiatives Workplan) โดยสหรัฐฯ จะมีส่วนร่วมมากขึ้นในภูมิภาคนี้

นอกจากนี้ ยังตกลงสานต่อความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการค้าและการลงทุน และการสนับสนุนห่วงโซ่อุปทานของโลก รวมทั้งการเชื่อมโยงในภูมิภาคในด้านต่างๆ รวมถึงการกระจายสินค้าและบริการ การแพทย์และเทคโนโลยี การคมนาคมทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศ ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณูปโภคเพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า

ทั้งนี้ มีการตั้งข้องสังเกตว่า แถลงการณ์ในครั้งนี้ไม่ได้กล่าวถึงรัสเซีย แม้ว่าจะเป็นประเด็นที่ทำให้ทำเนียบขาวต้องจัดการประชุมกับอาเซียน แต่มีการระบุชื่อประเทศยูเครนในตอนท้ายของแถลงการณ์ ซึ่งระบุว่า "จะเปิดทางให้ชาวยูเครนที่ต้องการความช่วยเหลือได้รับความช่วยเหลือ และเรียกร้องหยุดใช้ความรุนแรงรวมถึงหาทางออกอย่างสันติ"

ขณะเดียวกัน มีการกล่าวถึงเกาหลีเหนือ ในลักษณะที่เป็นการเรียกร้องให้ปฏิบัติตามมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

นอกจากนี้ แถลงการณ์ยังมีการแสดงความกังวลต่อวิกฤตในเมียนมา และเรียกร้องให้เมียนมาทำตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน ที่มีข้อตกลงเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2564 อย่างไรก็ตาม การประชุมในครั้งนี้ไม่มีผู้แทนจากรัฐบาลเมียนมาเข้าร่วมประชุม โดยเป็นการเว้นว่างเก้าอี้ของเมียนมาไว้ในระหว่างการประชุม