xs
xsm
sm
md
lg

รวบผู้ต้องหาลักลอบค้าสัตว์ป่าคุ้มครอง พบทั้งลูกเสือ ลูกนกหวงห้าม ชี้โทษจำคุกสูงสุด 10 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ปราบปรามการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปทส.ตร.) ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แถลงผลการจับกุมผู้ต้องหาครอบครอง และค้าสัตว์ป่าคุ้มครอง ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา พบหลักฐานสำคัญ ทั้งลูกเสือ และลูกนกหวงห้าม

พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการ ศปทส.ตร กล่าวว่า ได้รับข้อมูลว่ามีกลุ่มนายทุนลักลอบค้าเสือและนกหวงห้าม จำพวกนกกาฮัง และนกกรามช้าง ซึ่งล่ามาจากป่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) สืบสวนร่วมกับชุดเหยี่ยวดง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยได้รับการสนับสนุนข้อมูลการสืบสวนจากมูลนิธิฟรีแลนด์ จนทราบว่าจะมีการขายลูกเสือและลูกนกกาฮัง ลูกนกกรามช้าง ในบริเวณที่เกิดเหตุ ซึ่งเคยขออนุญาตประกอบกิจการสวนสัตว์ เมื่อปี พ.ศ. 2557 แต่ขาดต่อใบอนุญาตเมื่อปี พ.ศ.2562 โดยมีนายเคียง (สงวนนามสกุล) เป็นเจ้าของสถานที่ และเป็นผู้ขายสัตว์ป่า

ทั้งนี้ นายเคียง เสนอขายลูกเสืออายุประมาณ 3 เดือน จำนวน 2 ตัวๆ ละ 400,000 บาท และนกกาฮัง 6 ตัว และนกกรามช้าง จำนวน 2 ตัวๆ ละ 20,000 บาท มูลค่ารวมกันทั้งสิ้นประมาณ 460,000 บาท เจ้าหน้าที่นำตัวผู้ต้องหา พร้อมด้วยของกลางส่งพนักงานสอบสวน สภ.โนนสูง จ.นครราชสีมา เพื่อสอบสวนดำเนินคดีต่อไป

สำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มาตรา 17 ในข้อหาร่วมกันมีสัตว์ป่าคุ้มครองและซากของสัตว์ป่าคุ้มครองไว้ในครอบครอง โดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดี อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 29 ในข้อหาร่วมกันค้าสัตว์ป่าคุ้มครองและซากของสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดี อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

หากพบพยานหลักฐานว่ามีการนำสัตว์ป่า ซึ่งเป็นสัตว์ควบคุมลักลอบเข้ามาจากต่างประเทศ อาจเป็นความผิดในข้อหานำเข้าซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครอง สัตว์ป่าควบคุม (สัตว์ไซเตส) ซากสัตว์ป่า โดยไม่ได้รับอนุญาต อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 23

สำหรับสัตว์ป่าคุ้มครอง ซึ่งได้แก่ นกกาฮัง (หรือนกกก หรือนกกะวะ เป็นนกเงือกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มนกเงือก 13 ชนิดที่มีอยู่ในประเทศไทย) จำนวน 6 ตัว นกกรามช้าง (หรือนกเงือกกรามช้าง) จำนวน 2 ตัว และลูกเสือโคร่ง จำนวน 2 ตัว ขออนุมัติพนักงานสอบสวนรับไปส่งมอบให้สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 (นครราชสีมา) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดูแลและเก็บรักษาจนกว่าคดีจะถึงที่สุดต่อไป