xs
xsm
sm
md
lg

‘หมอยง’เปิดข้อมูลประสิทธิภาพวัคซีนชนิดโปรตีนซับยูนิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ระบุว่า โควิด-19 วัคซีน ชนิดโปรตีนซับยูนิต (protein subunit)

ขณะนี้ประเทศไทย มีวัคซีนชนิดที่ 4 มาใช้ให้กับประชากรไทย เป็นโปรตีนซับยูนิต คือวัคซีน Covovax จากประเทศอินเดีย เป็นวัคซีนที่ได้ลิขสิทธิ์และวิธีการทำเหมือนวัคซีน Novavax ของประเทศสหรัฐอเมริกา

โปรตีนซับยูนิตที่ใช้ทำวัคซีนโควิด ไม่ใช่หลักการใหม่ วัคซีนนี้มีใช้อยู่แล้ว เช่น วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี ใช้กันมากมาย

แต่โควิด-19 สไปรท์โปรตีน จะมีขนาดใหญ่ การกระตุ้นภูมิต้านทาน จึงจำเป็นต้องอาศัยเทคนิคพิเศษ ที่จะเป็นตัวช่วยเสริม คือใช้ adjuvant หรือสารเร่งเสริมกระตุ้นภูมิต้านทาน มาเป็นตัวประกอบ

โปรตีนซับยูนิต วัคซีนของจีน ZF2001, มีชื่อการค้า Zifivax พัฒนาโดยบริษัทAnhui Zhifei Longcom ใช้สารกระตุ้นภูมิต้านทานเป็น alum จึงกระตุ้นภูมิต้านทานได้ไม่ดี การฉีดจึงต้องใช้ถึง 3 เข็ม และภูมิที่ได้ก็ไม่ได้สูงมาก

วัคซีนที่จะพูดคือ Novavax และ Covovax ที่มีใช้ในประเทศไทย ใช้หลักการเดียวกัน ให้สิ่งมีชีวิตสร้างโปรตีน เหมือนของสไปรท์โปรตีนของไวรัส covid

จุดสำคัญของวัคซีนนี้คือสารเร่งกระตุ้นภูมิต้านทาน (adjuvant) จะใช้ Matrix M adjuvant เป็น saponin ได้จากเปลือกไม้ ต้น Molina เป็นสิ่งใหม่ และพึ่งมาใช้ในวัคซีนนี้ ส่วนของ adjuvant นี้ หรือสารเร่งกระตุ้นภูมิต้านทาน ยังไม่เคยใช้ในมนุษย์มาก่อน จึงได้มีการศึกษาตั้งแต่ระยะที่ 1 ถึงระยะที่ 3 และมีการนำมาใช้แล้ว การใช้เป็นเข็มกระตุ้นยังมีข้อมูลไม่มาก จะเห็นว่าวัคซีนนี้ผ่านระยะที่ 3 มาร่วมปีครึ่งแล้ว เพิ่งจะมีการนำมาใช้จริง

วัคซีนอีกตัวหนึ่ง ที่จะต้องพูดถึง คือ วัคซีนใบยาสูบ โปรตีนที่สร้างจากใบยาสูบ คือวัคซีนของบริษัท Medicago ประเทศแคนาดา วัคซีนนี้มีชื่อทางการค้าว่า Covifenz ใช้ สารกระตุ้นภูมิต้านทาน ASO3 ของบริษัท GSK ตัวกระตุ้นภูมิต้านทานนี้ใช้มาแล้วอย่างแพร่หลาย ในวัคซีนมะเร็งปากมดลูก กระตุ้นภูมิต้านทานได้สูง และมีความเชื่อมั่นในเรื่องของความปลอดภัย และผ่านการทดลองระยะที่ 3 เรียบร้อยแล้ว มีประสิทธิภาพในการป้องกันการเกิดโรค ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ลดความรุนแรงของโรคในระดับปานกลางและรุนแรงได้ถึงร้อยละ 78.8 %

อุปสรรคในการทำวัคซีนจากโปรตีน ไม่ได้อยู่ที่การสร้างโปรตีนจากสิ่งมีชีวิต ปัญหาใหญ่อยู่ที่สารช่วยเสริมสร้าง กระตุ้นภูมิต้านทาน (adjuvant) ที่ใช้กันอยู่ ประสิทธิภาพดี จะติดลิขสิทธิ์ เช่น Matrix M, ASO3 ในส่วน Matrix M เป็นสิ่งใหม่ เพิ่งเริ่มใช้ในมนุษย์ จะต้องมีการติดตามเรื่องความปลอดภัยด้วย