พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เผยความสำเร็จจากการพบปะหารือร่วมกับ นายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ถึงความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่าง 2 ประเทศ อย่างน้อย 8 ด้าน ทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การเสริมสร้างศักยภาพ Startup และ SMEs การส่งเสริมการลงทุนจากญี่ปุ่น ในอุตสาหกรรมเป้าหมายสำคัญของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายและพื้นที่ EEC การเสริมสร้างความร่วมมือด้านพลังงาน ฯลฯ เพื่อขยายโอกาสทางเศรษฐกิจ และวางรากฐานไปสู่อนาคตของประเทศไทย
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ระบุข้อความว่า
"พี่น้องประชาชนชาวไทยที่รักทุกท่านครับ
ช่วงวันที่ 1-2 พ.ค.นี้ ประเทศไทยได้มีโอกาสที่ดียิ่ง ในการให้การต้อนรับการเยือนอย่างเป็นทางการ ของนายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และคณะกว่า 100 คน ซึ่งเป็นผู้แทนระดับสูงจากหลายกระทรวงสำคัญของญี่ปุ่น ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยว รวมทั้งกระทรวงกลาโหม นับเป็นการเยือนอย่างเป็นทางการในระดับนายกรัฐมนตรี ครั้งแรกในรอบ 9 ปี เพื่อสานต่อและขยายผลความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่าง 2 ประเทศ ที่มีมาอย่างยาวนาน 135 ปี ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน
ผมมีความยินดีที่จะเรียนให้ทราบถึงความสำเร็จร่วมกัน จากการหารือเพื่อเพิ่มพูนความเป็น "หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์" ระหว่างประเทศไทยและญี่ปุ่นให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น อย่างน้อย 8 ด้าน ดังต่อไปนี้
1. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การเสริมสร้างศักยภาพ Startup และ SMEs ให้มีนวัตกรรมใหม่ๆ รวมทั้งการร่วมมือภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจ BCG ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การเติบโตสีเขียว ของทั้งสองประเทศ
2. การส่งเสริมการลงทุนจากญี่ปุ่น ในอุตสาหกรรมเป้าหมายสำคัญของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า-แบตเตอรี่-อะไหล่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและเซมิคอนดักเตอร์ เทคโนโลยีดิจิทัล และ BCG ทั้งในพื้นที่ EEC และทั่วทุกภูมิภาคของไทย ที่จะต้องพิจารณาส่งเสริมโดยตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ต้นทาง-กลางทาง-ปลายทาง รวมทั้งเรื่องเวชภัณฑ์-ยา-เครื่องมือแพทย์ ซึ่งญี่ปุ่นก็เป็นหนึ่งในผู้ผลิตยาระดับโลก รัฐบาลก็พร้อมที่จะสนับสนุนให้เกิดการลงทุน การวิจัย หรือขยายธุรกิจ โดยตั้งโรงงานผลิตยาในประเทศไทยให้มากขึ้น โดยไทยก็มีความพร้อมด้านบุคลากรทางการแพทย์ นักวิจัย และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อส่งเสริมบทบาทของไทย ให้เป็น "ศูนย์กลางด้านสุขภาพและการแพทย์ (Healthcare, Wellness & Medical Hub)" ของโลก
3. การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายและพื้นที่ EEC
การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยส่งเสริมการสร้างแรงงานทักษะสูง ใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่รองรับการลงทุนของญี่ปุ่น ผ่านสถาบันโคเซ็นในไทย (KOSEN Education Center) เพื่อมุ่งพัฒนาให้ไทยเป็น "ศูนย์กลางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์" ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
4. การเสริมสร้างความร่วมมือด้านพลังงาน เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน
5. การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ระบบราง โครงข่ายดิจิทัล และ 5G
6. การส่งเสริมการค้าระหว่างกัน โดยใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA : Free Trade Agreement) ต่างๆ ที่สองฝ่ายเป็นภาคีอยู่ รวมถึงความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) ซึ่งเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดของโลก
7. การเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูประเทศจากสถานการณ์โควิด-19 และเตรียมความพร้อมรองรับโรคอุบัติใหม่ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งผมได้ยืนยันความพร้อมของไทย ในการเป็นที่ตั้งของ "ศูนย์อาเซียนด้านภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่" รวมทั้งได้มีการหารือถึงแนวทางการส่งเสริมให้มีการผ่อนคลายมาตรการการเข้าประเทศเป็นลำดับ ตามสถานการณ์ เพื่อให้ประชาชนของทั้งสองประเทศ สามารถกลับมาเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างกัน ขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวได้มากขึ้น
8. ความร่วมมือด้านความมั่นคงร่วมกัน ภายใต้กลไกทวิภาคีและพหุภาคี เพื่อการป้องกันอาชญากรรมข้ามชาติ การต่อต้านการก่อการร้ายสากล ความมั่นคงทางไซเบอร์ ความมั่นคงทางทะเล เป็นต้น
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นถือว่าเป็นประเทศที่มีการลงทุนในไทยมากที่สุด โดยในปี 2564 ที่ผ่านมา มีการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน จำนวน 178 โครงการ จากทั้งหมด 1,674 โครงการ คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุน 80,733 ล้านบาท จากทั้งหมด 642,680 ล้านบาท เฉพาะในเดือน มี.ค.65 นี้ มีการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนญี่ปุ่น จำนวน 2 ราย มีมูลค่าการลงทุนราว 630 ล้านบาท โดยผมมุ่งหวังที่จะสนับสนุนให้ภาคเอกชนของญี่ปุ่น ให้ความสำคัญและเลือกประเทศไทย เป็นที่ตั้งของห่วงโซ่อุปทานขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น ที่สามารถเชื่อมโยงทั้งภูมิภาคนี้ได้
นอกจากนี้ ในฐานะที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศผู้ผลิตรถยนต์รายสำคัญของโลก ผมได้มอบหมายให้ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลไทย ได้เดินทางไปหารือกับภาคเอกชนญี่ปุ่น กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า จำนวน 5 บริษัท เพื่อเน้นย้ำนโยบายของรัฐบาล และความพร้อมของไทย ในการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่เข้มแข็งและมีศักยภาพ โดยมีการออกมาตรการส่งเสริมการผลิตและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร รวมทั้งระบบนิเวศของยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งเรื่องแบตเตอรี การรีไซเคิลแบตเตอรี ชิ้นส่วนต่างๆ และสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งการทำงานร่วมกันของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของทั้งสองประเทศหลังจากนี้ จะเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้ไทยสามารถเปลี่ยนผ่านประเทศ ไปสู่การเป็น "ผู้นำอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า" ในภูมิภาค และเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าอันดับต้นๆ ของโลก รวมทั้งบรรลุนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้นอีกด้วย
การเดินทางมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการของผู้นำประเทศญี่ปุ่นในครั้งนี้ จะเป็นการต่อยอดความร่วมมือไปสู่ความสำเร็จของทั้งสองประเทศ ในหลากหลายมิติ เพื่อขยายโอกาสทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การวิจัย การท่องเที่ยว สาธารณสุข ที่จะเกิดอาชีพใหม่ๆ อีกมากมาย และวางรากฐานไปสู่อนาคตของประเทศไทย ด้วยนวัตกรรมที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สู่ความเจริญก้าวหน้าที่ยั่งยืน ที่เราจะส่งมอบต่อให้กับลูกหลานของเราในวันข้างหน้าครับ"