จากกรณีที่มีการส่งต่อข้อมูลว่าข้อมูลผู้ที่เสียชีวิตของ สปสช. ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ฉีดวัคซีนทดลอง ส่วนผู้ไม่ได้ฉีดวัคซีนทดลอง ร่างกายปกติและแข็งแรงดี ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ชี้แจงว่า ภารกิจของ สปสช.ในการช่วยเหลือเบื้องต้นผู้ได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนโควิด-19 นั้น ไม่ได้พิจารณาหรือพิสูจน์ว่าผลข้างเคียงเกิดจากวัคซีนโควิด-19 หรือไม่ แต่ภารกิจคือการช่วยเหลือเบื้องต้นและพิจารณาให้รวดเร็วที่สุด ตามหลักการเยียวยาเบื้องต้นในระดับสากล คือไม่พิสูจน์ถูกผิด หรือ no-fault compensation ดังนั้นในการพิจารณาก็จะดูจากเอกสารทางการแพทย์ ประวัติสุขภาพ ช่วงเวลาที่เกิดปัญหา คณะอนุกรรมการของ สปสช.จะพิจารณาเป็นรายๆ ไป
ดังนั้นจึงไม่สามารถนำผลสรุปการช่วยเหลือแต่ละประเภท โดยเฉพาะในกลุ่มที่เสียชีวิตไปอ้างอิงหรือสรุปได้ว่ามีสาเหตุจากวัคซีนโควิด
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ระบุว่าเสียชีวิตร่วม 4,000 ราย ก็เป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง โดย สปสช.แบ่งการช่วยเหลือเบื้องต้นเป็น 3 ประเภท คือ ระดับ 1 อาการเจ็บป่วยต่อเนื่อง ระดับ 2 เกิดความเสียหายถึงขั้นสูญเสียอวัยวะหรือพิการจนมีผลต่อการดำรงชีวิต และระดับ 3 กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร แบ่งเป็น เสียชีวิตภายใน 30 วัน, เสียชีวิตมากกว่า 30 วัน, ทุพพลภาพอย่างถาวร และเจ็บป่วยเรื้อรังที่ต้องได้รับการรักษาตลอดชีวิต จากข้อมูลล่าสุด (23 เม.ย.65) มีรายละเอียดดังนี้
เสียชีวิตภายใน 30 วัน จำนวน 3,067 ราย
เสียชีวิตมากกว่า 30 วัน จำนวน 437 ราย
ทุพพลภาพอย่างถาวร จำนวน 94 ราย
เจ็บป่วยเรื้อรังที่ต้องได้รับการรักษาตลอดชีวิต จำนวน 165 ราย
รวมเป็น 3,763 ราย เฉพาะที่เสียชีวิตคือ 3,504 ราย
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.nhso.go.th หรือโทร. 1330