xs
xsm
sm
md
lg

สร้างอนาคตไทยเลือก"อุตตม"เป็นหัวหน้า-"สนธิรัตน์"นั่งเลขาฯ ชูนโยบาย'5 สร้าง'ขับเคลื่อนการแก้ปัญหาประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ที่ประชุมใหญ่สามัญพรรคสร้างอนาคตไทย มีมติเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่จำนวน 16 คน ประกอบด้วย นายอุตตม สาวนายน เป็นหัวหน้าพรรค นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เป็นเลขาธิการพรรค นายสันติ กีระนันท์ เป็นเหรัญญิกพรรค นายนิทัศน์ ประทักษ์ไจ เป็นนายทะเบียนพรรค

ส่วนกรรมการบริหารพรรคอีก 12 คน ได้แก่ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ นายสุพล ฟองงาม นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ นายวิเชียร ชวลิต นายนริศ เชยกลิ่น นายวัชระ กรรณิการ์ นายรักษ์พงษ์ เซ่งเจริญ นายวิรัช วิฑูรย์เธียร นายโอฬาร วีระนนท์ นายอิธวัฒน์ พิทักษ์คุมพล นางทิพย์พาพร ตันติสุนทร และ น.ส.โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ

พร้อมกันนี้ได้ประกาศนโยบาย "5 สร้าง" เป็นนโยบายหลักของพรรค เพื่อขับเคลื่อนแก้ปัญหาและสร้างอนาคตประเทศไทยอย่างบูรณาการ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมไทย ความเป็นอยู่ของคนไทยทุกคน เพื่อสร้างอนาคตแก่ลูกหลานไทย ได้แก่

1. สร้างเศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็งและทันสมัย

– สร้างความเข้มแข็งให้ฐานรากด้วยเศรษฐกิจที่เหมาะสมกับท้องถิ่น ประยุกต์ภูมิปัญญาถิ่นสร้างโอกาส ในชีวิตที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันทั้งชนบทและเมือง ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรชาวไร่ชาวนา ผู้ใช้แรงงานหรือผู้ประกอบการค้าขายริมทางริมถนนในเมืองกรุง

– ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย การบริหารจัดการที่เหมาะสม การจัดการทรัพยากรเพื่อการพัฒนาอย่างเพียงพอ เศรษฐกิจฐานรากระดับไมโครต้องแข็งแรงทันสมัยทันโลก

2. สร้างภาคเศรษฐกิจใหม่โครงสร้างพื้นฐานแห่งอนาคต

– พัฒนาระบบเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) ที่สร้างมูลค่าสูงด้วยแนวคิด BCG (Bio-Circular-Green Economy) คือระบบเศรษฐกิจฐานชีวภาพ มีการหมุนเวียนการใช้ทรัพยากรและเป็นมิตรกับโลก เพื่อทดแทนระบบเศรษฐกิจเก่า (Old Economy) ที่สร้างมูลค่าน้อยและเป็นปัญหากับสภาพแวดล้อมไทยและโลก

– สร้างโครงสร้างพื้นฐานแห่งอนาคต เพื่อเป็นปัจจัยในการสร้างภาคเศรษฐกิจใหม่ให้มีประสิทธิภาพ ปลดปล่อยศักยภาพของประเทศได้เต็มกำลังความสามารถ ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลที่แม่นยำเพื่อกำหนด กลยุทธ์ในการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างและสนับสนุนให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานแห่งอนาคต เช่น ศาสตร์และศิลป์แห่งการวิเคราะห์ข้อมูล (Data-Analytics และ AI) ซึ่งต้องเริ่มด้วยทำให้คนไทยทุกคน มี Digital Literacy รู้ทันเทคโนโลยีดิจิทัลและสามารถนำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพ

3. สร้างสังคมที่เกื้อกูล เป็นธรรม และยั่งยืน

– สร้างสังคมที่มีความเป็นธรรม คืนความสุขให้คนไทยทุกคน บูรณะวัฒนธรรมพื้นฐานของความเอื้ออาทร เกื้อกูล มีน้ำใจ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ในจิตใจของคนไทยทุกคน

– เสริมพื้นฐานการพัฒนาเศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) เพื่อใช้ประโยชน์ของทรัพยากรในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างคุ้มค่าและทำให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีตัวอย่างที่เริ่มต้นในภาคเอกชน เช่น Co-Working Space การใช้พื้นที่สำนักงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น การระดมทุนแบบ Peer-to-Peer หรือ Crowdfunding ซึ่งเป็นเศรษฐกิจยุคใหม่ ที่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรม

4. สร้างคนและวิทยาการ พร้อมก้าวสู่สังคมโลกแห่งอนาคต

– สร้างคนให้พร้อม สามารถใช้ประโยชน์จากความเปลี่ยนแปลงของบริบทโลก ด้วยเทคโนโลยีในระบบการศึกษาและการศึกษาต่อเนื่อง สร้างพื้นฐานความรู้ที่เข้มแข็งและมีจิตที่พร้อมจะเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นหลักประกันในการยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยให้ทัดเทียมนานาอารยประเทศ

– มุ่งสร้างวิทยาการที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตคนไทย โดยที่สามารถรองรับความเปลี่ยนแปลงและความผันผวนของโลก ทำให้สังคมไทยสามารถปรับตัว ยืดหยุ่นและทนต่อแรงเสียดทาน (Resilience) ทั้งกลับใช้ประโยชน์จากความเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

5. สร้างการเมืองที่สร้างสรรค์พลังบวก

– ดำเนินงานการเมืองโดยยึดถือประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก

– ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

– สร้างระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง บนพื้นฐานจิตสาธารณะ หยุดประชาธิปไตยเทียมที่มีเพียงรูปแบบอันหลอกลวงมุ่งสนองประโยชน์ของพวกพ้องและอภิสิทธิ์ชน

– หยุดยั้งการเมืองเชิงทำลายที่มุ่งสร้างความร้าวฉานเพียงเพื่อช่วงชิงอำนาจด้วยเกมการเมือง