พล.ต.ต. ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า เทศกาลสงกรานต์ นับเป็นเทศกาลที่สืบสานวันขึ้นปีใหม่ของชาวไทย แต่จากสถานการณ์ที่มียอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรัฐบาล และศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. ได้มีมติอนุญาตให้พื้นที่ที่มีการควบคุมสามารถจัดงานสงกรานต์ได้ แต่เป็นการจัดงานเพื่อวัตถุประสงค์สืบสานวัฒนธรรมและประเพณีไทย โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (COVID Free Setting) ของกระทรวงสาธารณสุข อย่างเคร่งครัด
นอกจากนี้ ในหลายจังหวัดได้มีรายละเอียดของมาตรการป้องกันโควิด-19 ที่ต่างกับพื้นที่อื่นๆ ซึ่งเป็นผลมาจากการแบ่งกลุ่มจังหวัดตามสถานะพื้นที่ควบคุมโควิด-19 เช่น ห้ามจัดกิจกรรมที่มีการเล่นประแป้งและกิจกรรมในลักษณะปาร์ตี้โฟม รวมถึงห้ามการจำหน่ายและการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในบริเวณพื้นที่จัดกิจกรรม
พร้อมทั้งให้มีจุดคัดกรองบริเวณทางเข้า-ออกและให้มีการลงทะเบียนก่อนเข้า-ออกสถานที่หรือพื้นที่จัดกิจกรรม และให้ควบคุมจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมมิให้แออัดตามขนาดของสถานที่หรือพื้นที่จัดกิจกรรมเกณฑ์ไม่น้อยกว่า 4 ตารางเมตรต่อผู้เข้าร่วมกิจกรรม 2 คน โดยให้เข้าร่วมได้เฉพาะผู้ที่แสดงหลักฐานว่าบุคคลนั้นได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนด ห้ามการเล่นน้ำ เล่นประแป้ง ปาร์ตี้โฟม หรือกิจกรรมใดๆ ที่เป็นความเสี่ยงต่อการระบาดของโรค ในพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ซึ่งไม่ได้รับอนุญาตให้จัดกิจกรรมพื้นที่สาธารณะ ในข้อนี้ ไม่รวมถึงพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้จัดกิจกรรมตามประกาศนี้ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะให้จัดกิจกรรมเทศกาลสงกรานต์ได้ เช่น การจัดกิจกรรมเทศกาลสงกรานต์ในพื้นที่หมู่บ้านหรือชุมชน สามารถดำเนินการได้โดยผู้ที่ประสงค์จะจัดกิจกรรมต้องขออนุญาตต่อฝ่ายปกครองของแต่ละจังหวัด หรือสำนักงานเขตพื้นที่ และสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณี และดำเนินการตามมาตรการควบคุมและป้องกันโรคที่กำหนดไว้ในประกาศตามที่ทางราชการกำหนด
ยกเว้นการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มในครอบครัวสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องขออนุญาต แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมและป้องกันโรคที่ ศบค. กำหนด สถานที่หรือการจัดกิจกรรมใดๆ ที่อาจทำให้เกิดมีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรค ให้ผู้ประกอบการหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินมาตรการความปลอดภัยตามหลักเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนดขึ้นเป็นการเฉพาะด้วย
โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า สำหรับผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม อาจมีความผิดตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 มาตรา 51 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท และอาจมีความผิดตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ