xs
xsm
sm
md
lg

"พนิต”ซัด“ช่อ”ปมบอกควรชุมนุมได้ทุกที่ ชี้ควรทำตาม กม. -เคารพสิทธิเสรีภาพผู้อื่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก Panich Vikitsreth - พนิต วิกิตเศรษฐ์ ระบุว่า ชุมนุมได้ทุกที่"หมิ่นเหม่"หรือไม่

วันก่อนมีประเด็นที่ คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในนามอิสระ ไปให้สัมภาษณ์ในรายการโทรทัศน์ช่องหนึ่ง พูดถึงการแก้ปัญหาการชุมนุมในพื้นที่ กทม. ว่าจะทำอย่างไรไม่ให้สร้างปัญหาให้คนที่ไม่ได้มาร่วมชุมนุม

คุณชัชชาติ เสนอว่า กทม.ในฐานะเจ้าของพื้นที่ ควรจัดพื้นที่สำหรับการแสดงออกทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก เพื่อให้คนมาแสดงความคิดเห็นได้ ในขณะที่ กทม. ต้องอำนวยความสะดวกเรื่องการจัดหาเครื่องเสียง รถสุขา มีการประสานงานขออนุญาตใช้พื้นที่ชุมนุมตามกฎหมาย

แต่ปรากฏว่า คุณช่อ พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า ที่สนับสนุน คุณวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.จากพรรคก้าวไกล ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ พร้อมกับบอกว่า การชุมนุมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ต้องเกิดได้ทุกที่

ผมในฐานะที่เคยทำงานในตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ส.กทม. โดยในปี 2553 ยังเป็น กมธ.วิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ
เห็นต่างจากคุณช่อครับ โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า การชุมนุมต้องเกิดได้ทุกพื้นที่ เพราะแม้การชุมนุมจะเป็นการแสดงสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่ต้องเคารพสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นเช่นเดียวกัน อย่างประเทศอังกฤษยังมีกฎหมายว่าด้วยเรื่องการชุมนุมในที่สาธารณะโดยเฉพาะ เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยและไม่กระทบผู้อื่น

ขณะที่ประเทศไทยเอง ก็ไม่ได้ห้ามชุมนุม หรือปิดกั้นการแสดงความเห็นแต่อย่างใด เพียงแต่ขอให้ทำตามกฎหมาย โดยในพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ในมาตรา 10 ได้เปิดช่องให้ขออนุญาตชุมนุมไว้ โดยระบุว่า “ผู้ใดประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะ ให้แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่ชั่วโมง”

ในกฎหมายเขียนไว้ชัดเจนว่า ชุมนุมที่ไหนได้ และไม่ได้ โดยใน มาตรา 7 บัญญัติไว้ว่า “การจัดการชุมนุมสาธารณะในรัศมีหนึ่งร้อยห้าสิบเมตรจากพระบรมมหาราชวัง พระราชวัง วังของพระรัชทายาทหรือของพระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป พระราชนิเวศน์ พระตำหนัก หรือจากที่ซึ่งพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท พระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ประทับหรือพำนัก หรือสถานที่พำนักของพระราชอาคันตุกะ จะกระทำมิได้”

หากไม่กำหนด หรือจัดโซนไว้ให้ คุณช่อ ลองคิดดูว่า หากวันหนึ่ง อยู่ๆ มีใครไม่รู้มาจัดชุมนุมหน้าบ้านคุณช่อ โหวกเหวกเสียงดัง ปิดทางเข้า-ออกบ้านจนไม่สามารถเดินทางได้ เราจะยังโอเคอยู่มั้ย ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องมีกติกา มีเรื่องของการขออนุญาตในการจัดไว้ไง

แนวคิดการจัดพื้นที่ชุมนุมให้เป็นสัดส่วนจึงถือว่าดีครับ เพราะมันจะไม่ส่งผลกระทบต่อส่วนรวม หรือกับผู้ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องที่จะต้องใช้ชีวิตประจำวัน

อย่างไรก็ดี การออกมาคัดค้านนโยบายนี้ของ คุณช่อ ครั้งนี้ ผมไม่แน่ใจในเจตนาด้วยว่า ต้องการจะสื่ออะไรที่มากกว่านั้นหรือเปล่า

เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ในช่วง 2-3 ปีนี้มา คุณช่อ และองคาพยพ แสดงความเห็นสนับสนุนการชุมนุมของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่พยายามโฉบเฉี่ยวไปชุมนุมในสถานที่สำคัญที่กฎหมายห้ามเอาไว้หลายครั้ง ไม่ว่าจะสถานที่ราชการ หรือเขตพระราชฐาน การออกมาบลัฟนโยบายของคุณชัชชาติ จึงชวนให้สงสัยว่า กำลังเอาใจคนกลุ่มนี้เพื่อหาเสียงทางอ้อมให้กับ คุณวิโรจน์หรือไม่

พฤติกรรมในอดีตของคุณช่อ กับความคิดที่ต้องชุมนุมได้ทุกที่ มันชวนให้คิดจริงๆ ว่า จะสื่อถึงอะไร และนำไปสู่การตีความหมิ่นเหม่ที่อาจทำให้คนไทยไม่สบายใจ

ผมว่าการแข่งขันครั้งนี้ มาสู้กันด้วยนโยบายที่เป็นประโยชน์กับประชาชนจริงๆ มาดีเบตกันโดยไม่มีนัยยะแอบแฝงเรื่องอื่นดีกว่า

เราต้องการผู้ว่าฯ กทม.ที่มาทำงานให้คนกรุงเทพ ไม่ได้ต้องการคนที่จะมาเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอะไรที่พลันแต่จะสร้างความขัดแย้งให้กับคนในสังคม